ความรู้ความเข้าใจในกองทุนรวมRMF และPROVIDENT FUND

ความรู้ความเข้าใจในกองทุนรวมRMF และPROVIDENT FUND
นักลงทุนหลายท่านมีความเข้าใจผิดในการลงทุนระหว่างกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ ว่าทั้ง 2 กองทุนนี้เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วทั้ง 2 กองทุนนี้มีทั้งความเหมือนกันและแตกต่างกันบ้างอย่างชัดเจน ซึ่งในบทความนี้ ผมขออธิบายให้นักลงทุนทุกท่าน ได้เข้าใจกันในส่วนสาระสำคัญๆ อย่างพอสังเขป เพื่อจะได้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง

กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) จัดตั้งขึ้นเพื่อต้องการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้ถือหน่วยลงทุนในยามเกษียณอายุ และเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่นักลงทุน ท่านจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี กล่าวคือ นักลงทุนสามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน
ไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้


- ผู้ลงทุนต้องซื้อหน่วยลงทุน RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และจะเว้นการซื้อขายได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน (กล่าวคือจะต้องลงทุนต่อเนื่องกันทุกปี หรือ ปีเว้นปี)

- เงินที่ลงทุนใน RMF ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 % ของรายได้ต่อปี หรือ ไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี (แล้วแต่จำนวนไหนจะต่ำกว่า)

- จำนวนสูงสุดที่ลงทุนได้ต้องไม่เกิน 15 % ของรายได้ต่อปี ทั้งนี้เงินที่จ่ายไปในกองทุน RMF ดังกล่าว เมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

-ผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุน RMF ไปจนถึงอายุ 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีจึงสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้

-เงินหรือผลประโยชน์ (Capital Gain) ใดๆที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน RMF จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ เมื่อท่านได้ถือหน่วยลงทุนนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

หมายเหตุ : ส่วนสำคัญอื่นๆ ของกองทุน RMF ท่านสามารถอ่านได้จากหนังสือชี้ชวนของ บลจ .ต่างๆได้

สิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่อยากรู้และเข้าใจกันอีกก็คือ ข้อดีของการลงทุนในกองทุน RMF คืออะไร

ตอบ ผู้ลงทุนลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี มีเงินออมเป็นหลักประกันให้กับตัวเองและครอบครัวเมื่อพ้นวัยทำงานแล้ว

ในส่วนนโยบายการลงทุนของกองทุน RMF ก็จะเหมือนกับกองทุนทั่วๆไป ท่านสามารถที่จะเลือกลงทุนได้หลายกองทุนด้วยกันขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ท่านได้รับ เริ่มจากความเสี่ยงระดับน้อยมากๆก็เน้นลงลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ไปจนถึงกองทุนที่มีความเสี่ยงที่สูง ก็ลงทุนในตราสารทุน ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ และสามารถเปลี่ยนนโยบายลงทุนได้ตามสภาวการณ์การลงทุน และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่นช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง ท่านที่ลงทุนในกองทุนหุ้นก็สามารถ สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนมาที่กองทุนตราสารหนี้ ก็ได้ (เนื่องจากกอง RMF เป็นกองทุนระยะยาว จึงเปิดโอกาสให้เปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้ และยังสามารถโอนย้ายข้ามไปยัง บลจ.อื่นได้)

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือกองทุนที่ประกอบด้วยลูกจ้าง และนายจ้าง ร่วมตกลงกันจัดตั้งกองทุน โดยลูกจ้างจะต้องสะสมเงินเข้ากองทุนนี้ และนายจ้างจะต้องสมทบเงินเพิ่มเข้าไปด้วย โดยทั่วไปแผนการออมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท (รายละเอียดติดตามตอนต่อไปนะครับ)

สรุป : กองทุนรวม RMF เป็นกองทุนที่นักลงทุนสมัครใจที่จะออมเอง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ออมเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากคาดว่าการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียน จึงถือว่าการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นการเพิ่มทางเลือกในการออม และเพิ่มเงินจากการลดหย่อนภาษี และผลประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในยามที่นักลงทุนอายุมาขึ้น

ที่มา : ขอขอบคุณ คุณสุชาดา กุลสุขรังสรรค์ จากบริษัทหลักทรัพย์ สินเอเซีย จำกัด (ACLS) ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและเนื้อหาที่น่าสนใจนี้ และ manager.co.th





มาวางแผนการลงทุนผ่านกองทุนรวม RMF กันเถอะ

มาวางแผนการลงทุนผ่านกองทุนรวม RMF กันเถอะ
คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ธีรนาถ รุจิเมธาภาส
กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้

เมื่อพูดถึงการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ เดี๋ยวนี้เรียกกันจนติดปากว่ากองทุนรวม RMF นั้น สำหรับแฟนประจำ RMF ก็คงทราบว่า บลจ. ต่างๆ จะมีนโยบายการลงทุนมาให้เลือกกันหลากหลาย ทั้งที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม กองทุนหุ้น ซึ่งผลตอบแทนและความเสี่ยงในการลงทุนก็จะน้อยมาก แตกต่างกันตามนโยบายการลงทุนที่ผู้ลงทุนก็จะต้องดูหนังสือชี้ชวนฯ ก่อนตัดสินใจหยอดเงินเข้ากองทุนประเภทต่างๆ ที่พูดแบบนี้เพราะหากเป็นการลงทุนเพื่อเกษียณหรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นการออมระยะยาว ลำพังจะซื้อแต่กองทุนตราสารหนี้อย่างเดียวซึ่งแม้ดูเหมือนเงินต้นจะมั่นคงดีแต่อาจจะได้ผลตอบแทนไม่มาก ครั้นจะลงทุนแต่กองทุนหุ้นอย่างเดียวแม้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนดี (เช่นปีนี้) แต่ในระยะเวลาสั้นๆ ก็น่าตื่นเต้นเกินกว่าเหตุ


สำหรับผู้ลงทุนหลายท่าน จึงนิยมจัดสรรเงินออมเพื่อเกษียณไปลงทุนในกองทุนผสม หรือกองทุนหุ้นบ้าง มากน้อย ก็แล้วแต่ความอดทนต่อความเสี่ยง ระยะเวลาในการลงทุน รวมถึงความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในตราสารแต่ละประเภท ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผลตอบแทนโดยรวมๆ ของเงินออมที่กระจายไปลงทุนในตราสารประเภทต่างๆ จะช่วยให้เงินออมของเราพอกพูนในอัตราผลตอบแทนที่น่าพอใจ นอกจากนี้ การลงทุนในกองทุนรวม RMF นั้น ผู้ลงทุนยังสามารถ Switch กองทุนข้ามนโยบายหากมีมุมมองที่เป็นบวกกับการลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นพิเศษได้อย่างไม่ยุ่งยากอะไรเลย

เช่น หากท่านมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสนี้ ซึ่งผลกำไร ตลอดจนราคาหุ้นของบริษัทต่างๆ น่าจะดีขึ้น ท่านอาจจะ Switch เงินลงทุน จากกองทุนตราสารหนี้ RMF มาเป็นกองทุนหุ้น เพิ่มก็ได้ หรือในทำนองกลับกันหากท่านมีมุมมองที่แย่กับการลงทุนในหุ้น หรือกำไรหุ้นมากพอแล้ว และอยากลดความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นก็อาจจะ Switch จากกองทุนรวมหุ้น RMF มาเป็นกองทุนตราสารหนี้ RMF ก็ได้ การ Switch นี้ จะว่าไปก็คือการขายหน่วยลงทุน RMF กองทุนหนึ่ง ไปเข้าซื้อหน่วยลงทุนอีกกองทุน RMF อีกกองหนึ่ง ซึ่งท่านต้องแจ้งให้กับ บลจ. ของท่านทราบถึงความประสงค์ของท่านอย่างชัดเจน เพราะเงินจะได้โอนเข้ากองทุนปลายทางได้ทันเวลา (ไม่เกิน 5 วันทำการ) มิฉะนั้น เดี๋ยวจะไปผิดกฎของกรมสรรพากรนั่นเอง

สำหรับตัวอย่างข้างล่าง เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่อาจจะพอทำให้ท่านเห็นเป็นแนวทางในการจัดสรรเงินออมยามเกษียณ โดยสมมติว่า นายสมชาย อายุ 40 ปี ทำงานบริษัทเอกชน มีความต้องการที่จะสร้างเงินออมในวัยเกษียณสักก้อนคือประมาณ 7 ล้านบาท เพื่อหวังว่าหากตนเองอายุ 60 ปี และไม่ได้ทำงานแล้วก็จะได้มีเงินไว้จับจ่ายใช้สอยในยามจำเป็นนั่นเอง ในกรณีนี้ สิ่งที่นายสมชายต้องทำคือ

1. ประเมินว่าตนเองมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ ถ้ามีตอนนี้มีเท่าไร และคาดว่าเงินสะสมของตนเองและเงินสมทบจากนายจ้างจะได้อีกเท่าไร สมมติว่า ตอนนี้ตนเองเงินสะสมกับเงินสมทบได้มาปีละ 36,000 บาท อีก 20 ปีที่ทำงานก็อาจจะเก็บเพิ่มได้อีกอย่างน้อยๆ ก็ 720,000 บาท (36,000 บาท คูณอายุงานที่เหลืออีก 20 ปี) หากรวมเงินของเก่าที่สะสมมาตั้งแต่เริ่มทำงานที่มีอยู่ 400,000 บาท ก็คาดว่า นายสมชาย คงจะมีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่น้อยกว่า 1,120,000 ล้านบาท

2. เป้าหมายที่ต้องออมเงินเอง ก็คือต้องมีเงินออมตอนอายุ 60 ปี 7 ล้านบาท ก็จะเหลือเป้าหมายที่ 5,880,000 บาทแล้ว (เอา 7,000,000 บาท ลบ 1,120,000 บาท) เพราะมีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาช่วย คราวนี้ก็ต้องมาคิดว่าตนเองจะซื้อกองทุนรวม RMF ประมาณปีละเท่าไร ข้อนี้สำคัญเพราะต้องคำนวณให้ไม่เกินเงื่อนไขที่ลดหย่อน สมมติว่าปีๆ หนึ่งควรซื้อไม่เกิน 100,000 บาท การที่คุณสมชายจะมีเงินออมสะสมรวมกันได้ 5,880,000 บาทข้างต้น จะต้องได้ผลตอบแทนเท่าไร

3. ถ้าโจทย์เป็นแบบนี้ ใช้เครื่องคิดเลขเคาะออกมาก็จะคำนวณได้ว่าผลตอบแทนที่ควรได้คือ 9.44 % ต่อปี หากเป็นเช่นนี้ จากประสบการณ์ของผม การลงทุนเฉพาะในกองทุนตราสารหนี้ RMF คงไม่พอ อาจจะต้องผสมการลงทุนในกองทุน RMF หุ้นด้วย เรียกว่า ถ้าไม่อยากเสี่ยงกับการที่จะมีเงินออมที่ไม่พอใช้ ก็ต้องมาเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหน่อย หรือพูดง่าย ๆ ว่าเสี่ยงกันวันนี้ยังมีโอกาสลุ้นในอนาคตนั่นเอง

4.ส่วนการจะจัดสรรเงินออมใน RMF หุ้น เท่าไร หรือ RMF ตราสารหนี้ เท่าไร ผู้ลงทุน หรือคุณสมชายเอง ก็ต้องติดตามข่าวสาร หรือขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ หรือ นักวางแผนการเงินว่า ในแต่ละสถานการณ์ควรจัดสรรเงินลงทุนอย่างไร พร้อมทั้งต้องติดตามผลการลงทุนของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

เป็นอย่างไรครับ การวางแผนการลงทุนในกองทุน RMF นับเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะท่านต้องเลือกจัดสรรเงินลงทุนเพื่อตอบโจทย์เฉพาะตนที่แตกต่างจากผู้ลงทุนท่านอื่นๆ และตอนนี้ ก็มีข่าวดีมาบอก หากท่านใดที่สนใจหรือจัดสรรเงินลงทุนกองทุน RMF ในหุ้นไทยกันไปบ้างแล้ว แต่อยากจะกระจายการลงทุนไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศบ้าง ตอนนี้ บลจ.ทิสโก้ กำลังเสนอขาย “กองทุนเปิด ทิสโก้ เอชีย แปซิฟิค เอ็กซ์ เจแปน เพื่อการเลี้ยงชีพ” ที่มีนโยบายการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียประมาณ 12 ประเทศ อาทิเช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ออสเตรเลีย อินเดีย เป็นต้น โดยเสนอขายในราคาจองซื้อที่ 10 บาทต่อหน่วย จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 52 นี้ หากท่านใดต้องการหนังสือชี้ชวนหรือรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ บลจ.ทิสโก้ หรือ ธนาคารทิสโก้ ได้ทุกวันในเวลาทำการ ก็เรียนมาให้ทราบทั่วกันครับ

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
ที่มา http://www.manager.co.th





ออมเงินด้วยหุ้น-ซื้อพันธบัตรเพื่อกระจายความเสี่ยง..โดย วรรณี ควรสถาพร

ออมเงินด้วยหุ้น-ซื้อพันธบัตรเพื่อกระจายความเสี่ยง..โดย วรรณี ควรสถาพร
หลายคนต้องยอมรับว่าผู้หญิงสมัยนี้ทำงานเก่งกว่าผู้ชายซะอีก เช่นเดียวกัน“วรรณี ควรสถาพร หรือคุณจุง” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาพร มาเก็ตติ้ง จำกัด หรือที่ใครๆ รู้จักกันในนามของยาจุดกันยุง “คายาริ” ซึ่งเธอเป็นคนคิดค้นนวัตกรรมที่ผลิตจากธรรมชาติเพื่อให้มีสารเคมีน้อยที่สุดเป็นรายแรกๆ ของไทย และมาในวันนี้นอกจากเราจะดูการบริหารงานของเธอกันแล้ว ทีม “ผู้จัดการกองทุนรวม” ยังนำเกร็ดเคล็ดลับการบริหารเงินมาฝากกันด้วย...


คุณจุงเริ่มบอกว่า จากสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละวันต้องยอมรับว่ามีทั้งดีและไม่ดี ดังนั้น ถ้าจะลงทุนทำอะไรต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกัน ถ้ามองการลงทุนไปยังต่างประเทศอย่างประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เช่น ลาว กัมพูชา และพม่า มีความน่าสนใจมาก แต่อย่างที่บอกไว้เราต้องทำการศึกษาแต่ละประเทศอย่างรอบคอบว่าเขามีการใช้ชีวิต มีวัฒนธรรมอย่างไร ซึ่งบริษัทของเราเองก็กำลังจะไปบุกตลาดยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย แต่ยังคงต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ก่อนที่จะเข้าไปลงทุน

“งานปัจจุบันตอนนี้ที่รับผิดชอบ จะดูแลในเรื่องการเงิน การจัดซื้อเป็นหลัก และงานสื่อสารการตลาดต่างๆ ก็ทำด้วย เพราะเราเป็นคนชอบคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันกับเพื่อนร่วมงานทำให้ได้แง่คิดใหม่ และมองว่าการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญเช่นกันที่จะผลักดันให้สินค้าเติบโตไปข้างหน้าได้”

คุณจุงบอกต่อว่า ในอนาคตมีแผนการดำเนินงานที่จะสร้างแบรนด์ และพัฒนานวัตกรรมยาจุดกันยุงให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จากแต่ก่อนเราจะเห็นยาจุดกันยุงมีแต่สีเขียว เราก็ได้พัฒนามาในรูปแบบให้มีสีสันน่าใช้มากยิ่งขึ้น

โดยจะมีหลักและแนวคิดในการทำงานคือ “ต้องรู้เขา รู้เรา เข้าใจตัวเรา และเข้าใจตัวเขาด้วย เช่น ถ้าเราเข้าใจลูกน้องโดยเอาใจเขามาใส่ใจเรามันก็จะทำงานกันได้ง่ายขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย เราต้องให้ความสำคัญมากพอๆ กับการบริหารงาน และการสื่อสาร มันจะไปพร้อมๆ กัน และงานก็จะสามารถเดินไปข้างหน้าได้”
และจากการทำงานที่ต้องดูแลด้านการเงินมาโดยตลอด คุณจุงจะมีวิธีการบริหารเงินอย่างเป็นระบบในส่วนของบริษัท ขณะที่รายได้ส่วนตัวจะแบ่งออกเป็น 4-5 ส่วน ส่วนแรกจะแบ่งออกมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และอีกส่วนก็จะแบ่งออกมาเป็นเงินออมในรูปแบบของการลงทุนระยะยาวไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ ขณะเดียวกันก็แบ่งเงินมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดี และแบ่งเงินบางส่วนมาลงทุนในตลาดหุ้นด้วย แต่ลงทุนในหุ้นจะลงทุนเป็น 2 อย่าง มองในการลงทุนแบบระยะยาว 80% และอีก 20% เป็นแบบซื้อมาขายไป

“คนเราถ้ารู้จักเก็บออมจะเป็นการดีที่สุด เพราะมันจะเป็นหลักทรัพย์ให้กับเราได้ในอนาคต มีเงินมันก็จะทำให้เราปลอดภัยที่สุด มันก็สามารถนำมาใช้จ่ายได้ในยามฉุกเฉินและจำเป็น”

ขณะเดียวกัน คุณจุงได้ให้ความสำคัญของการออมเงินเป็นอย่างมาก จึงพยายามปลูกฝังลูกๆ ให้รู้จักรักการออมตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งจะบอกกับลูกๆ เสมอว่า เงินที่ให้ไปไม่ได้ให้เฉยๆ ต้องให้รู้จักคุณค่า โดยจะให้ลูกบริหารเงินเองในแต่ละเดือน เหลือเท่าไหร่ และเราที่เป็นแม่ก็จะให้เขาเพิ่มไปเท่ากับที่เหลือ ซึ่งมันก็ได้ผล มันเป็นเหมือนการให้รางวัลเขาที่เขารู้จักใช้จ่ายและเหลือเก็บออมไว้ตอนสิ้นเดือน
ส่วนวันว่างจากการทำงาน คุณจุงมักจะชอบนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม โดยได้ศึกษาเรื่องของธรรมะเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังชอบไปอบรมวิปัสสนายังสถานที่ต่างๆ ด้วย ขณะเดียวกันถ้าอยู่บ้านก็จะชอบทำอาหารรับประทานกันในครอบครัว เหมือนเป็นการสร้างกิจกรรมร่วมกัน

สุดท้ายคุณจุงฝากบอกว่า ในช่วงสภาวะข้าวของแพงเป็นเงาตามตัวแบบนี้ เราต้องใช้จ่ายอย่างมีสติ ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ชีวิตต้องใช้อย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งใช้ได้จริง เพราะถ้ามีรายได้เข้ามาเมื่อไหร่เราควรแบ่งเก็บออมไว้ประมาณ 20-30% เก็บตามกำลังที่เรามีอยู่ เพราะเชื่อว่าแต่ละคนรายได้ไม่เท่ากัน ถ้าเป็นคนที่มีรายได้น้อยเราควรจะแบ่งเงินมาลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรืออาร์เอ็มเอฟ และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือแอลทีเอฟ เพราะจะทำให้เรามีเงินออมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่คนมีรายได้สูงขึ้นมาหน่อยก็น่าจะเข้าไปสร้างผลตอบแทนได้ในตลาดหุ้น ทองคำ หรือกองทุนรวมในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น




ชื่อ - นามสกุล วรรณี ควรสถาพร (คุณจุง)
วันเดือนปีเกิด 7 กันยายน -
การศึกษา ปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัชสัมชัญ (ABAC)
งานปัจจุบัน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาพร มาเก็ตติ้ง จำกัด
ที่มา manager.co.th

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์