สร้างธุรกิจเงินล้านกับการทำเขาสัตว์เทียม

สร้างธุรกิจเงินล้านกับการทำเขาสัตว์เทียม

"นายไม้" กลุ่มผู้ผลิตไม้แกะสลัก หันเอาดีผลิตเขาสัตว์ปลอมรายแรกของไทยที่เปิดตัวเป็นทางการ ประกาศสร้างความต่างจาก "หน้าปาด" ในอดีต สู่ "หัว" ที่เหมือนจริง ถึง 20 แบบ ตั้งเป้าพัฒนาต่อยอดเป็นเฟอร์นิเจอร์เล็งไอเดียดีไซน์จากเมืองนอก พร้อมจับมือตัวแทนจำหน่ายรุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ เตรียมรับงบฯ จากสภาพัฒน์ฯ เพิ่มกำลังการผลิต มั่นใจเขาสัตว์ปลอมจะช่วยลดการล่าสัตว์และเป็นทางเลือกของนักสะสม

กฤษตฤณ ศิริชุมแสง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มประดิษฐ์กรรมทำเทียมเขาสัตว์ นายไม้ จากจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจเขาสัตว์ปลอมว่า เนื่องจากความชอบสะสมเขาสัตว์ หัวสัตว์ และความชอบของการตกแต่งบ้าน ทำให้เกิดแนวคิดการทำเขาสัตว์ปลอมขึ้นมา ซึ่งเมื่อได้พบกับเพื่อนที่มีความรู้เกี่ยวกับการทำเรซิน จึงเกิดความคิดที่จะทำเขาสัตว์ปลอมโดยใช้เรซินเป็นส่วนประกอบ

แต่กว่าจะออกมาเป็นสินค้าเหล่านี้ได้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเกือบ 1 ปี โดยก่อนหน้านี้กลุ่มผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์กรรมทำเทียมเขาสัตว์ นายไม้ เริ่มจากการผลิตสินค้าเกี่ยวกับงานไม้แกะสลักอยู่ประมาณ 2-3 ปี แต่ทำตลาดสู้กับจังหวัดทางภาคเหนือไม่ได้ ซึ่งอนาคตคาดว่าคงจะเลิกผลิตเพราะต้นทุนสูงขึ้น

สำหรับสินค้าเขาสัตว์ปลอมของนายไม้มี 2 ประเภท คือ เขาสัตว์ และหัวสัตว์ ทุกชนิดเพื่อไว้สำหรับตกแต่งบ้าน และของตกแต่งบ้านประเภทโคมไฟต่างๆ อาทิ โคมไฟแขวน โคมไฟติดผนัง โคมไฟตั้งโต๊ะ ปัจจุบันนายไม้สามารถผลิตสินค้าได้ทั้งหมด 20 แบบ

ส่วนในอนาคตจะมีการพัฒนาให้ออกมาเป็นรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ เช่น ชุดเก้าอี้นั่งที่ทำจากเขาสัตว์อย่างกวางมูสซึ่งมีเขาขนาดใหญ่สามารถนำมาทำเป็นโต๊ะ และเก้าอี้ได้ โดยได้แนวทางการพัฒนาสินค้าดังกล่าวมาจากต่างประเทศ แต่สินค้าของต่างประเทศเป็นเขาสัตว์ของจริง เพราะสามารถล่าได้อย่างถูกกฎหมาย



แม้ว่านายไม้จะไม่ใช่รายแรกที่เข้ามาทำตลาด แต่ถือเป็นรายแรกที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการซึ่งสินค้าของนายไม้เป็นเขาสัตว์ปลอมแต่ทำได้เหมือนกับเขาสัตว์จริงถึง 100% จึงส่งผลให้การทำตลาดเขาสัตว์ของ"นายไม้"ยังอยู่ในระดับที่ดี

"เราไม่ใช่เจ้าแรกที่ ทำสมัยก่อนเมื่อสิบ-ยี่สิบปีก่อน สินค้าพวกนี้มีขายอยู่ตามชายแดน ซึ่งคนขายมักจะหลอกคนซื้อว่าเป็นของจริงและจะมีแต่เฉพาะส่วนเขาของสัตว์เท่านั้น ส่วนหัวกะโหลกไม่สามารถทำได้เพราะมีเทคนิคค่อนข้างซับซ้อน สินค้าตามชายแดนไม่ค่อยมีความสวยงามไม่มีรายละเอียด เพราะสินค้าเหล่านี้จะสวยหรือไม่สวยขึ้นอยู่กับต้นแบบด้วย ถ้าเรามีของจริง ต้นแบบดี สินค้าจะสวย ถ้าเราหาของจริงได้เยอะเราจะมีแบบเยอะ"

กฤษตฤณกล่าวต่อว่า "นายไม้" มีต้นแบบถึง 100 กว่าแบบ ซึ่งถือว่าไม่น้อย มีทั้งหัวเสือ กระทิง กวาง ละมั่ง ฯลฯ โดยต้นแบบทั้งหมดมาจากการสะสมของตนเองและเพื่อนๆ

สำหรับขั้นตอนการผลิตเขาสัตว์ปลอม เริ่มจากการหาเขาสัตว์จริงเพื่อใช้เป็นต้นแบบ จากนั้นนำมาทำบล๊อกด้วยยาง เมื่อได้บล็อกจึงเทเรซินลงไป แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ส่วนผสมที่ใช้ในการทำช่วงหัวกะโหลก จะต้องใช้เรซินผสมกับผงแคลเซียม หลังจากแกะออกจากบล็อกนำมาขัดเพื่อเก็บรายละเอียดและลงสี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย หากผู้ทำไม่มีความชำนาญ การถอดบล็อกจะกลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้นงานเขาสัตว์ปลอมในสมัยก่อนจึงเป็นแค่เพียงงานหน้าปาด คือ มีเพียงเขากับบางส่วนเสี้ยวของใบหน้า เท่านั้น
ด้านกลุ่มเป้าหมาย ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เขาสัตว์ปลอม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ชอบการตกแต่งบ้านในลักษณะของสไตล์ล็อคโฮม คันทรี หรือรีสอร์ท ซึ่งจากการออกงานสู้แล้วรวยในครั้งที่ผ่านพบว่า กลุ่มเป้าหมายได้เริ่มขยายตัวไปยังกลุ่มผู้หญิงมากขึ้น เพราะเดิมผู้หญิงไม่กล้าที่จะซื้อเขาสัตว์จริง แต่กล้าซื้อของปลอม

ซึ่งระดับราคาสินค้าของนายไม้ อยู่ที่หลักร้อยจนถึงประมาณเจ็ดพันบาท หรือแค่เพียง 10% ของของจริงเท่านั้น และยังไม่ผิดกฎหมาย เช่น ปัจจุบันหัวกระทิงของจริง ราคา 30,000-40,0000 บาท แต่ถ้าทำจากเรซินประมาณ 3,000-4,000 บาท

นอกจากการพัฒนาสินค้าให้หลากหลายขึ้นแล้ว การสร้างการยอมรับเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งนายไม้เป็นโอทอป 5 ดาวของจังหวัดกาญจนบุรี และในไม่ช้าจะเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าเดิมที่ผลิตได้วันละ 10 ชิ้นต่อคนงาน 20-30 คน โดยขณะนี้กำลังรองบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องเครื่องมือ

ส่วนการทำตลาดในไทย นายไม้จะใช้ระบบตัวแทนจำหน่ายซึ่งขณะนี้เริ่มมีการติดต่อมาแล้ว โดยเป็นคนที่ขายเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว ส่วนตลาดต่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่มีการทำ แต่มีผู้ที่มาติดต่อเป็นตัวแทนจำหน่าย แต่คงต้องให้ศึกษาการส่งออกจากไทย และนำเข้าต่างประเทศก่อน เพราะสินค้าเหมือนจริงมาก อาจจะเป็นอุปสรรค เพราะผู้ติดต่อส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีเขาสัตว์จริงจำหน่ายอยู่ เช่น แคนาดา สวีเดน ฯลฯ เป็นต้น

ในเรื่องค่านิยมการชอบสะสมของจริงของคนไทยถือว่า ช่วยหลังเริ่มหายไป เพราะเขาสัตว์จริงเริ่มหายาก และราคาแพง จึงนับว่าเป็นเวลาเหมาะสมในการหาสินค้าอื่นมาทดแทน

"เรามาทำอย่างนี้ ถือเป็นการร่วมอนุรักษ์ทางหนึ่ง ทำให้ไม่ค่อยเกิดการล่า เพราะคนที่อยากได้ก็จะหาซื้อตรงนี้แทนไม่ต้องไปซื้อของจริง" กฤษตฤณ กล่าวทิ้งท้าย

สนใจติดต่อ โทร. 01-777-4848 หรือ (034) 513-512
ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์






ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์