เคล็ดลับ 9 วิธีในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จด้วยตัวเราเอง

เคล็ดลับ 9 วิธีในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จด้วยตัวเราเอง
ความสำเร็จเป็นสิ่งสำคัญที่บรรดานักบริหารตัวยงต่างไขว่คว้า แต่การประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเองกลับเป็นสิ่งที่ท้าทายกว่า


เพราะจะได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง อีกทั้งนำพามาซึ่งเกียรติยศที่จะได้รับการกล่าวถึงไปอีกนาน

กิจการจะมั่นคงได้ต้องมาจากรากฐานที่มั่นคงที่ผู้ประกอบการเป็นผู้สร้างขึ้น
หลายคนมักจะตีความและคิดกันไปเองว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยและพึ่งการอุปถัมภ์ค้ำชูจากภายนอกเสมอไป ซึ่งสำหรับยุคปัจจุบันนี้ทฤษฏีดังกล่าวได้ถูกหักล้างความเชื่อในเรื่องนี้ไปได้มากพอสมควรแล้ว เพราะการสร้างธุรกิจใหม่ให้เจริญเติบโตและประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงบวกจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวของผู้ประกอบการเอง โดยเคล็ดลับ 9 วิธีสร้างความสำเร็จด้วยตนเองมีดังต่อไปนี้

1.มุ่งไปที่กระแสเงินสดเป็นเรื่องแรก กำไรเป็นเรื่องรอง
นักธุรกิจมักจะถูกสอนให้คิดในเรื่องของกำไรต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจริงๆแล้วควรลองเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่และมุ่งสนใจไปที่กระแสเงินสดหมุนเวียนภายในบริษัทแทน อย่าลืมว่าต้องใช้เงินสดจ่ายบิล ถ้าเกิดมียอดเงินหมุนเวียนอยู่ภายในบริษัทตลอดและมีการจ่ายชำระหนี้ตรงตามเวลา พยายามให้มีการเรียกเก็บเงินระยะสั้นๆ ปิดยอดได้ไวๆ เมื่อนั้นก็จะได้ผลกำไรตอบแทนกลับมาเอง

2.ประมาณการความต้องการและกำลังการผลิตอย่างต่ำ
ผู้ประกอบการต้องทำการประเมินแนวโน้มความต้องการของตลาดเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา จากนั้นจึงทำการกำหนดสัดส่วนความต้องการของธุรกิจบริษัท เช่น ถ้าบริษัทผลิตเกี่ยวกับเครื่องสำอางสตรีที่กลุ่มตลาดเป้าหมายที่ใช้เป็นประจำอยู่ที่ 1 ล้านคน ประมาณการส่วนแบ่งการตลาดขั้นต่ำที่ต้องการได้คือ 10% นั่นหมายถึง 100,000 คน แล้วนำมาคิดด้วยกำลังการผลิตขั้นต่ำของทางบริษัทว่าสามารถทำได้อย่างน้อยกี่ชิ้้นต่อวันแล้วนำไปหักลบกันให้เรียบร้อยเพื่อหากำลังการผลิตว่าสามารถตอบสนองได้หรือไม่นั่นเอง

3.วางแผลการทดสอบ
ผลิตภัณฑ์ที่ดีต้องมีการทดสอบอย่างรอบด้าน ผู้ประกอบการควรออกแบบสร้างแผนทดสอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทตนเองโดยเริ่มทดสอบในส่วนของคุณสมบัติส่วนตัวและแนวทางการจัดวางจำหน่ายเพื่อจะหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำตลาดและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจจะเลือกจากจุดเด่นที่ได้มาจากการทดสอบนำมาเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาก็ได้

4.ผลิตภัณฑ์สามารถพิสูจน์ว่าดีจริงๆ
เป็นเรื่องสำคัญที่ผลิตภัณฑ์ที่จะนำออกวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคนั้น จะต้องสามารถพิสูจน์ได้จริงในเชิงประจักษ์โดยผ่านการทดสอบจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน นอกจากนี้การยอมรับจากสถาบันวิจัยสำคัญยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของผู้ประกอบการอีกด้วย

5.เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจบริการ
ธุรกิจบริการจะมีข้อดีตรงที่สามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องของข้อมูลข่าวสารอย่างมหาศาล โดยผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลดังกล่าวพัฒนาออกมาเป็นตัวผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานได้ เช่น บริษัทที่ผลิตแชมพูสระผมบางส่วนก็มีที่มาจากการเป็นร้านให้บริการในเรื่องการตัดแต่งและสระผมมาก่อนด้วยกันทั้งนั้น

6.มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์การใช้สอยไม่ใช่ที่รูปแบบ
ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าก็ต่อเมื่อมันสามารถตอบสนองต่อความต้องการของเขาได้จริงๆไม่ใช่มองแค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น ดังนั้นการมุ่งพัฒนาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มตลาดเป้าหมาย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอันจะทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำกลับคืนมาสู่ธุรกิจของบริษัทภายในเวลาอันรวดเร็ว

7.จัดหาพนักงานให้เพียงพอ
บ่อยครั้งที่ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจากการทำธุรกิจค่อนข้างที่จะน่าผิดหวัง เพราะมีที่มาจากจำนวนพนักงานที่ไม่เพียงพอบวกกับไม่มีความรู้ความสามารถโดยตรงกับงานที่กำหนดไว้ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องจัดหาพนักงานที่มีความรู้ และมีจำนวนพนักงานที่เพียงพอสำหรับรองรับการทำงานที่พร้อมจะเติบโตต่อไปในอนาคตด้วย

8.ใช้วิธีขายตรงเป็นการเบิกทาง
การขายตรงเป็นวิธีการค้าขายที่เก่าแก่มากที่สุดในโลก ควรทดลองใช้วิธีดังกล่าวเป็นอันดับแรกในการทำตลาด เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถสัมผัสได้อย่างแท้จริงถึงปัญหาของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับจากกระแสตอบรับของผู้บริโภคโดยตรง และยังเป็นการตัดขั้นตอนในส่วนของพ่อค้าคนกลางที่เรียกรับผลประโยชน์ออกไป จึงทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรที่เพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้การค้าขายผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกว่า E Commerce ก็เป็นวิธีการขายตรงรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อยในปัจจุบัน

9.จัดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ในตลาด
ถ้าผู้ประกอบการสามารถจัดอันดับตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทตนเองได้นั่นจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำธุรกิจ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าที่เหมาะสมกับสถานะของตน เช่น ลูกค้าที่มีรายได้ต่างกันก็จะเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาต่างกัน เป็นต้น ดังนั้นการจัดตำแหน่งผลิตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการสมควรจะต้องพึงกระทำเพราะจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ขายได้ง่ายและในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้นนั่นเอง

ต่อให้ธุรกิจของผู้ประกอบการจะมีผู้อุปถัมภ์ค้ำชูที่ยอดเยี่ยมสักเพียงใดก็ตาม ที่สุดแล้วธุรกิจของผู้ประกอบการจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองให้ได้เสียก่อน เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงคงไม่มีใครที่จะคอยสนับสนุนธุรกิจอื่นๆไปได้โดยตลอดอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเป็นผู้สร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับกิจการนั่นเอง
ที่มา http://incquity.com




6 แนวคิดการทำธุรกิจแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งประสบการณ์

6 แนวคิดการทำธุรกิจแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งประสบการณ์
คนส่วนใหญ่มักคิดว่าธุรกิจกับประสบการณ์เป็นของคู่กัน ซึ่งปัจจุบันแนวความคิดดังกล่าวดูจะตกยุคไปแล้วด้วยกระแสแนวคิดยุคใหม่ในการทำธุรกิจแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาประสบการณ์อีกต่อไป

ประสบการณ์ไม่ใช่เรื่องจำเป็น หากผู้ประกอบการมี "กึ๋น" ในการบริหารจัดการ
นับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาหลายครั้งที่ค่านิยมถูกนำไปผูกติดกับความเชื่อในแบบผิดๆ ที่มักจะไปบังคับช่องทางการทำธุรกิจให้แคบลงอยู่เสมอๆ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเอาเสียเลยในยุคปัจจุบัน เพราะดูเหมือนจะเป็นการไปจำกัดความก้าวหน้าอย่างสิ้นเชิงสำหรับนักธุรกิจสายเลือดใหม่ โดยหนึ่งในความเชื่อที่เป็นข้อผูกมัดที่มิอาจทำให้ธุรกิจเกิดใหม่ขึ้นมาได้ก็คือ ความเชื่อในเรื่องของประสบการณ์ ที่มักจะได้รับการบอกกล่าวมาจากรุ่นสู่รุ่นว่าธุรกิจเป็นเรื่องของประสบการณ์ ผู้ใดไม่มีประสบการณ์ก็อย่าริอ่านไปทำธุรกิจโดยเด็ดขาด Timothy Ericson ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท CityRyde ได้ให้แนวทางที่จะปฏิวัติความคิดในเรื่องของประสบการณ์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจอีกต่อไป ซึ่งมีแนวคิดและวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.การมองหาความต้องการของตลาดเป็นสิ่งแรก
การมองหาความต้องการของตลาดเป็นสิ่งแรกที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่พึงจะต้องกระทำโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับสิ่งประดิษฐ์และบริการ เพราะต้องเข้าใจในพื้นฐานของคนเราที่มีความต้องการที่ไม่เหมือนกันและเชื่อเถอะว่าไม่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการใดสามารถตอบสนองในความต้องการได้ครบและครอบคลุมไปได้ทุกกลุ่มผู้บริโภค ดังนั้นสิ่งนี้คือช่องทางและโอกาสทองของผู้ประกอบการมือใหม่ที่ต้องลงมาจับตลาดความต้องการของผู้บริโภคที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และทำผลิตภัณฑ์ออกมาตอบสนองความต้องการในส่วนดังกล่าวให้จงได้ ซึ่งแนวทางนี้ไม่ต้องใช้ประสบการณ์เลยแม้แต่น้อย ที่ต้องใช้คือการทำรีเสิรช์ดีๆต่างหาก
2.เลือกทำธุรกิจอย่างชาญฉลาด
ผู้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจหลายคนส่วนมากก็ไม่ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจมาก่อน เพียงแต่พวกเขามีมุมมองที่ชาญฉลาดและรู้ว่าธุรกิจอะไรควรลงไปแข่ง ธุรกิจอะไรควรเว้นวรรค หรือที่เรียกว่าการประเมินโอกาสทางธุรกิจนั่นเอง โดยวิธีการประเมินธุรกิจเบื้องต้นที่ง่ายที่สุด คือ การประเมินศักยภาพของธุรกิจของตนเองและกลุ่มตลาดเป้าหมาย ตัวอย่างคือ พิจารณาปัจจัยทางด้านความพร้อม บุคคลากร เงินทุน การบริหาร บวกกับเรื่องของแนวทางการเติบโตของกลุ่มตลาดเป้าหมายที่จะลงไปจับ คู่แข่งขัน ความต้องการหลักของผู้บริโภค เมื่อนำปัจจัยทั้ง 2 ด้านมาวิเคราะห์ประกอบกันแล้วจะรู้เองว่าธุรกิจดังกล่าวมีความน่าลงทุนขนาดไหนที่จะส่งผลิตภัณฑ์และบริการลงไปแข่งด้วย จึงจะเรียกว่าเป็นการทำธุรกิจอย่างชาญฉลาดที่จะมีแต่ได้มากกว่าเสียนั่นเอง
3.สร้างความน่าเชื่อถือ
ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะมาช่วยลดจุดด้อยในเรื่องของการขาดประสบการณ์ได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะกับบริษัทหน้าใหม่ๆ คำถามที่มักจะพบเป็นประจำเมื่อเวลาไปขายงานต่อหน้าลูกค้าคือ ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์อะไรเลยแล้วสิ่งไหนจะมาเป็นตัวช่วยบ่งชี้ว่าคุณจะสามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่นำเสนอมาได้ ผู้ประกอบการหลายรายเมื่อได้ฟังคำถามนี้ก็แทบจะตกเก้าอี้เพราะไม่สามารถตอบคำถามที่ถูกยิงออกมาจากปากของลูกค้าได้ ซึ่งทางออกของปัญหาดังกล่าวคือการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในกรอบการดำเนินงานของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนเงินทุนสำรอง ยอดหมุนเวียนในกระแสเงินสด และที่สำคัญคือประวัติการทำงานที่ผ่านมาของบริษัทจะต้องไม่มีข้อผิดพลาดในเรื่องของปัญหาการฟ้องร้องและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากการทำงานโดยเด็ดขาด เรียกได้ว่าเดินประวัติการทำงานของบริษัทให้เนียนเข้าไว้จะช่วยทดแทนจุดด้อยในเรื่องของการขาดประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี
4.อาศัยและพึ่งพาทรัพยากรแบบฟรีๆ
เพราะความที่ยังไม่มีประสบการณ์จึงต้องอาศัยความทุ่มเทและการประหยัดมัธยัสถ์เป็นหลัก ด้วยการไปศึกษาหาข้อมูลและคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจที่ให้บริการฟรีในรูปแบบเครือข่ายอย่างเช่นในโลกสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น ทวิตเตอร์และเฟสบุ๊ค ที่มักจะให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจแบบฟรีๆ ไม่เสียเงินเลยสักบาท บางครั้งอาจจะช่วยพิจารณาการวางแผนธุรกิจและช่วยกระจายข้อมูลในเรื่องของการทำงานให้ด้วย ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในลักษณะของมิตรภาพในรูปแบบเพื่อนที่ไม่สามารถตีราคาได้ นอกจากนี้การศึกษาหาข้อมูลการทำธุรกิจจากห้องสมุดต่างและการเข้าอบรมสัมมนาทางวิชาการตามมหาวิทยาลัยก็เป็นวิธีการช่วยเพิ่มความรู้ได้ดีอีกวิธีหนึ่ง
5.ใช้สื่อทางอินเตอร์เน็ตและเฟสบุคในการโฆษณาเพื่อความประหยัดและได้ผล
ผู้เริ่มประกอบธุรกิจในช่วงแรกๆต่างรู้ดีว่าเงินทุนเป็นสิ่งมีค่ามากที่สุด ดังนั้นการใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องใช้ความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษหรือเรียกง่ายๆว่าการประหยัดนั่นเอง โดยหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดรายจ่ายได้เป็นอย่างดี คือ การใช้งานอินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจสามารถค้นหาจากทางโลกออนไลน์ได้แทบทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเขียนแผนทางธุรกิจ การดาวน์โหลดเอกสาร และที่สำคัญคือสถิติต่างๆที่มีเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตจะมีอยู่เป็นจำนวนมากและฟรี ถ้าไปว่าจ้างบริษัทที่รับทำสำรวจจะเสียค่าใช้จ่ายที่แพงมาก และไม่คุ้มค่ากับบริษัทที่เพิ่งเปิดใหม่ด้วย
6.ใช้จุดแข็งให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เครื่องมือที่สำคัญที่สุดของผู้ประกอบการในการลดปัญหาที่เกิดจากการขาดประสบการณ์ทางธุรกิจก็คือใช้จุดแข็งเข้าต่อสู้ โดยผู้ประกอบการจะต้องสำรวจตนเองก่อนว่ามีจุดแข็งในเรื่องอะไรที่จะสามารถไปต่อกรกับคู่แข่งขันบนท้องตลาดได้ อาจจะเป็นราคาที่ถูกกว่า คุณสมบัติที่ดีกว่า ฯลฯ แล้วพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวนำมาใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้กับคู่แข่งที่มักจะอ้างในเรื่องของประสบการณ์เป็นจุดเด่น ซึ่งการใช้จุดแข็งของธุรกิจเข้ามาต่อสู้นี้จะต้องใช้ทักษะส่วนตัวของผู้ประกอบการค่อนข้างมากในการบริหารจัดการให้ตรงกับยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้

ประสบการณ์ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประกอบการจะหาซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อทั่วๆไปและส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดเหมือนกันทุกคน ดังนั้นการค้นหาจุดแข็งในด้านอื่นๆเพื่อจะเอามาทดแทนในจุดด้อยดังกล่าวจึงเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึง "กึ๋น" ในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
ที่มา ncquity.com



กลยุทธ์ทางการตลาดของช่อง 3:DOUBLE Positioning

กลยุทธ์ทางการตลาดของช่อง 3:DOUBLE Positioning
หากย้อนไปสักสี่ห้าปีก่อน

แล้วลองถามกันดูว่า..

ถ้าให้นึกถึง "สถานีข่าว"

เราจะนึกถึงทีวีช่องไหน?

คำตอบคงอาจจะหลากหลาย

แต่หนึ่งในช่องที่ไม่น่าจะมีคนนึกถึงเท่าใดนัก น่าจะเป็นช่อง 3

เพราะช่อง 3 น่าจะเท่ากับช่องบันเทิง

เป็นช่องที่ต่อสู้คู่คี่กับช่อง 7 ในการครองแชมป์บันเทิง

ซึ่งก็หมายถึงชิงแชมป์สถานีทีวี

(ในเชิงรายได้จากเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งหลักๆ มาจากละครหลังข่าว และสารพัดรายการบันเทิงล้อมหน้าล้อมหลังนั่นล่ะ)

ทว่าหลายปีที่ผ่านมา เหตุบ้านการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารของคนในสังคมเปลี่ยนไป เอื้อให้เกิดรายการประเภทข่าวและสาระ มากกว่าที่เคยๆ มา

เป็นโอกาสให้หลายช่อง เพิ่มรายการข่าวลงไปในผังอย่างเข้มข้น

จนทำไปทำมา ทุกช่องทีวีของไทยในยุคนี้ ต่างมีสัดส่วนรายการข่าวเพิ่มขึ้นจากในอดีตอย่างเห็นได้ชัด


แต่ช่องที่ทำได้ดีอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นขวัญใจสถานีข่าวในใจคนไทยหลายคนไปแล้ว เห็นทีต้องยกให้ "ช่อง 3"

ช่อง 3 แบรนดิ้งกลุ่มรายการข่าวของตัวเองว่า 'ครอบครัวข่าว 3'

เริ่มใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2547 เกิดจากแนวคิดของ นายวิบูลย์ ลีรัตนขจร ผู้บริหารบริษัทในเครือเซิร์ช

เข้าใจทุกข่าว เข้าถึงทุกคน ... เป็นสโลแกนประจำ

และมี "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" เป็นหัวหน้าครอบครัว

รวมเข้ากับดาราข่าวท่านอื่นๆ อีกเพียบ ผ่านรายการขาวมากมายที่กระจายตัวอยู่ทั่วผังทั้งวันธรรมดาและเสาร์อาทิตย์

เมื่อรวมเข้ากับการเดินสายจัดกิจกรรม-คอนเสิร์ต เข้าถึงพี่น้องประชาชนทั่วทุกภาคในประเทศไทย (จริงๆ ไปถึงเพื่อนบ้านรอบๆ ไทยด้วย)

ยิ่งทำให้ได้ใจ ได้คะแนนนิยมไปอีก แต่เด็ดขาดที่สุด คือการเล่นบทบาทเชิงรุก ในสถานการณ์วิกฤต

ช่อง 3 กลายเป็นศูนย์กลางในการระดมความช่วยเหลือ รวมถึงลงไปทั้งช่วย ทั้งรายงานในพื้นที่อย่างแข็งขัน เป็นที่พึ่งให้กับพี่น้องประชาชน ไปอีกหน้าที่หนึ่งซะแล้ว

ทั้งหมด ทำให้ช่อง 3 ก้าวสู่การเป็นสถานีข่าวในใจคนไทยได้สำเร็จ ภายในไม่ถึง 10 ปี

ซึ่งในแง่ของช่องบันเทิง ก็ทำได้ไม่แพ้กัน กลายเป็นว่า เด่นทั้งสอง มิเป็นรองใคร ได้อย่างน่าสนใจ

ปัจจัยความสำเร็จของช่อง 3 คืออะไร??

บทวิเคราะห์

ตามปรกติสถานีทีวีก็มักจะมี Positioning ในใจผู้ชม โดยที่คนดูทีวีก็อาจไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นละครหลังข่าวก็ต้องช่อง 3 หรือช่อง 7 เท่านั้น ละครต่อให้มันส์และติดตลาดขนาดไหนถ้าไม่อยู่สองช่องนี้ก็มีเรตติ้งไม่สูงมากนัก ถ้าเป็นละครธรรมดาอาจไม่มีเรตติ้งเสียด้วยซ้ำ

ขณะที่ละครธรรมดาหากอยู่ช่อง 3 หรือช่อง 7 มีเรตติ้งแน่นอน

กระทั่งละครหลังข่าวของช่อง 3 และช่อง 7 ก็ต้องแยกแยะกันอีก เพราะช่อง 7 นั้นเรตติ้งสูงกว่าช่อง 3 เนื่องจากเครือข่ายของช่อง 7 ก็เหมือนกับเครือข่ายเอไอเอส ไปได้ไกลกว่า ส่วนช่อง 3 เหมือนเครือข่ายดีแทค สัญญาณคมชัดก็จริงแต่ไปได้ไม่ไกล กว่าจะพัฒนาสัญญาณให้ดูกันได้ทั้งประเทศ ช่อง 7 ก็อยู่ในใจผู้ชมต่างจังหวัดไปแล้ว

ดังนั้น ไม่น่าแปลกที่เรตติ้งช่อง 3 จะพ่ายแพ้ช่อง 7 อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าละครเรื่องนั้นจะดังทั้งบ้านทั้งเมืองอย่างไรก็ตาม เพราะคนส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดดูช่อง 7 เป็นหลัก

ช่องอื่นๆ ต่างหา Positioning ของตนโดยไม่ชนกับช่อง 7 และช่อง 3 ที่เป็นผู้นำ เช่น ครั้งหนึ่งช่อง 5 กะจะวางตำแหน่งเป็นช่องเกมโชว์ ซึ่งก็ไปได้ดีช่วงหนึ่ง ถึงจะไม่ชัดนักก็ตาม เพราะทุกวันนี้เกมโชว์ก็อยู่ช่อง 5 มากกว่าช่องอื่น เพียงแต่ช่องอื่นก็มี ถึงจะไม่มากเท่าแต่อาจจะดังกว่า ทำให้ช่อง 5 ไม่สามารถเคลมได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่งเกมโชว์

ช่อง 9 เป็นช่อง Edutainment

และไอทีวีในอดีตเป็นช่องข่าวเพราะเน้นข่าวตลอดทั้งวัน

การล่มสลายของไอทีวีจึงเท่ากับเป็นการล่มสลายของช่องข่าวอีกด้วย

TPBS ที่มาแทนที่ไอทีวีก็ไม่เหมือนไอทีวี บุคลากรข่าวของไอทีวีกระจัดกระจายตามช่องต่างๆ

ช่องสามนั้นเห็นโอกาสของการเป็นช่องข่าวแทนที่ไอทีวี เพราะในระยะหลังข่าวทวีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายก็ยิ่งทำให้ประชาชนต้องเสพข่าวสารอย่างต่อเนื่อง

ข่าวนั้นเหมือนกันโดยเฉพาะข่าวทีวี ฉีกออกจากกันไม่ได้มากนักหรอก ที่สร้างความแตกต่างก็คือผู้เล่าข่าว หรือผู้ประกาศข่าว

ก็เหมือนสโมสรรีล มาดริด นั่นเอง

หากจะสร้างช่องข่าวสักช่องหนึ่งก็ต้องชิงตัวบุคลากรข่าวที่อยู่เบื้องหน้ามาอยู่กับช่องตัวให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีชื่อเสียง เพราะคนดังเท่านั้นที่จะสามารถดึงดูดให้คนมาดูได้

เมื่อมีผู้ประกาศและนักเล่าข่าวชื่อดังมาอยู่ด้วยแล้ว ก็ต้องดูแลให้ดี สร้าง Business Model ที่จะทำให้คนเก่งกินดีอยู่ดีและทำงานร่วมกันได้

เพิ่มเวลาข่าวให้มากที่สุด โดยไม่ทำให้เวลาบันเทิงลดลง

ช่อง 3 สร้างแบรนด์ครอบครัวข่าวได้ดีและแข็งแกร่งมากขึ้น เมื่อเกิดภาวะวิกฤตแล้วเป็นช่องที่ทำ CSR ได้ดีที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะน้ำท่วม มีการจัดองค์กรกระจายงานอย่างดี รับบริจาคและช่วยเหลือประชาชนได้ดีกว่าหน่วยงานของรัฐบาลเองเสียอีก

และไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือเพียงครั้งคราวเท่านั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติใดก็ตาม ช่อง 3กลายเป็นหน่วยงานแรกที่พี่น้องประชาชนนึกถึงทั้งในแง่ความช่วยเหลือและการบริจาคเงิน

ในช่วงน้ำท่วมนี้ ครอบครัวข่าวลดละคร(ส่วนหนึ่งเพราะละครถ่ายไม่ได้) และเพิ่มช่วงทั้งสรยุทธและข่าว 3 มิติ แพร่ข่าวน้ำท่วมเป็นหลัก ข่าวอื่นเป็นรอง แม้น้ำลด ช่อง 7 กลับสู่ช่วงละครปรกติ ช่อง 3 ก็ไม่ลดช่วงข่าวแต่อย่างใดจนถึงสิ้นปี 2554 ค่อยว่ากันอีกที

ทำให้ช่อง 3 กลายเป็นช่องข่าวอันดับหนึ่งในใจคนไทย

โดยไม่ได้ทิ้งความเป็นช่องบันเทิง

เท่ากับเป็นช่องเดียวที่มี Double Positioning

ทั้งข่าวและบันเทิง

ยากหาช่องใดเสมอเหมือน
ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์