โดย : ธิติ สุวรรณทัต วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2554
แนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund : SWF ) ของประเทศไทยเริ่มก่อตัวเป็นรูปธรรมเมื่อสักประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว คือช่วงปี 2549-2550 ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ก่อนที่วิกฤติซับไพรม์จะปะทุขึ้นที่สหรัฐในปี 2551 ในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ SWFs จากประเทศต่างๆ กำลังผงาดขึ้นมาเป็นตัวละครที่สำคัญและมีบทบาทมากในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก
แต่ภายหลังจากที่วิกฤตการณ์ซับไพรม์ในสหรัฐลุกลามไปเป็นวิกฤติการเงินโลก ความเคลื่อนไหวของบรรดา SWFs ทั้งหลายก็เงียบไประยะหนึ่ง เพราะความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก อันเนื่องมาจากวิกฤติการเงินโลกที่อุบัติขึ้นในตอนนั้น
ในวันที่ 3 มี.ค.2552 คณะรัฐมนตรี (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้มีมติรับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “บรรษัทบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย" หรือ Thailand Investment Corporation (TIC) เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย
ในเบื้องต้น สภาที่ปรึกษาฯเสนอว่า รัฐบาลจะต้องจัดสรรเงินทุนประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินทุนประมาณร้อยละ 10 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (ในช่วงเดือน ม.ค.2552 ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองอยู่ที่ประมาณ 1.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ณ ปัจจุบัน เดือน ก.ค.2554 มีประมาณ 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และในอนาคตถ้าหากประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกก็สามารถนำเอารายได้ส่วนเกินตรงนั้นเข้ามาสมทบในกองทุนเพิ่มเติมก็ได้
นอกจากนั้น สภาที่ปรึกษาฯยังได้เสนอรูปแบบของการบริหารองค์กร TIC หรือ บรรษัทบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแล TIC ที่ต้องได้รับการสรรหาอย่างโปร่งใสตามมาตรฐานสากลและปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง พร้อมกับให้มี "คณะกรรมการนโยบายการลงทุน" และ "คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง" เพื่อจัดทำนโยบายการลงทุนและนโยบายการบริหารความเสี่ยงเสนอให้คณะกรรมการกำกับการดูแล TIC พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินงานต่อไป
ส่วนคณะผู้บริหาร TIC นั้น สภาที่ปรึกษาฯ เพียงเสนอแนะไว้กว้างๆ ว่า "คณะผู้บริหารจะต้องเป็นทีมงานมืออาชีพที่มีความสามารถและประสบการณ์การบริหารกองทุนและการบริหารความเสี่ยงดีเยี่ยม"
สำหรับการบริหารเงินทุนนั้น สภาที่ปรึกษาฯ เสนอว่าควรเป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Investment) ในต่างประเทศเท่านั้น และผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการบริหารจัดการลงทุนนอกจากเก็บเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มเติมแล้ว ก็อาจนำไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ได้เป็นบางส่วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ เสนอให้มีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานของบรรษัทบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย พร้อมกับต้องมีการบัญญัติบทลงโทษคณะกรรมการ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานต่างๆ ของ TIC ให้ชัดเจนเพื่อสามารถนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาได้ในกรณีที่มีการบริหารกองทุนอันไม่โปร่งใส นำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ผิดพลาด ขาดทุน หรือทำให้กองทุนเสียผลประโยชน์
โดยหลักการเบื้องต้น ความเห็นและข้อเสนอของสภาที่ปรึกษา ฯ เกี่ยวกับการการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทยถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะ SWF เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการบริหารสินทรัพย์ภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดผลตอบแทนต่อระบบเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางและระยะยาวได้
แต่ทั้งนี้มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องศึกษาถึงความพร้อมในการจัดตั้ง TIC ในประเด็นต่างๆ ให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะประเด็นที่จะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นแหล่งเงินทุนเริ่มต้นในการจัดตั้ง TIC เนื่องจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ดังนั้นจึงควรศึกษาให้รอบคอบว่าเงินทุนสำรองที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันเป็นเพราะการเพิ่มขึ้นในความมั่งคั่งของประเทศจริงหรือไม่ และปริมาณเงินทุนสำรองที่มีอยู่ดังกล่าว ณ ปัจจุบัน อยู่ในระดับสูงจนเกินความจำเป็นจริงหรือไม่
ในปัจจุบันมีกว่า 50 SWFs ในกว่า 40 ประเทศที่ใช้ SWF เป็นเครื่องมือในการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนเกิน โดยในบางประเทศมี SWF มากกว่าหนึ่งกองทุน เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน สิงคโปร์ เป็นต้น
คูเวต เป็นประเทศแรกที่ได้มีการจัดตั้งกองทุนประเภทนี้ขึ้นในปี ค.ศ.1953 คือ องค์การการลงทุนคูเวต หรือ Kuwait Investment Authority (KIA) เนื่องจากคูเวตเป็นประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีปริมาณเงินสำรอง "ส่วนเกิน" เป็นจำนวนมาก ซึ่งมาจากรายได้ในการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นรัฐบาลคูเวตจึงตั้ง SWF ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเงินทุนสำรองส่วนเกินดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วไป ที่เน้นการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการดูแลสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ
วัตถุประสงค์ในการตั้ง SWF ของประเทศคูเวตในตอนนั้นก็เพื่อต้องการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นส่วนเกินอันได้จากผลกำไรในการจำหน่ายน้ำมันดิบมาสร้างผลตอบแทนและกำไรที่เพิ่มขึ้น โดยนำมาลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของโลก ซึ่งในเวลานั้นก็เป็นเพียงการลงทุนในระยะสั้นๆ เท่านั้น
ต่อมารูปแบบการลงทุนของ SWF ได้เริ่มมีการพัฒนาและก้าวหน้าขึ้นตามลำดับควบคู่กับพัฒนาการระเบียบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในบริบทของโลกาภิวัฒน์ทางการเงิน (Financial Globalization) ที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นๆ อันเป็นผลจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และการเกิดขึ้นของนวัตกรรมทางการเงิน (Financial Innovation) ในรูปแบบต่างๆ
สิงคโปร์ ถือเป็นประเทศที่ริเริ่มบุกเบิกการลงทุนในรูปแบบของ SWF อย่างแท้จริง ในปี ค.ศ.1981 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตั้งบรรษัทเพื่อการลงทุนของรัฐ (Government of Singapore Investment Corporation - GIC) โดยการนำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนเกินที่ได้กำไรจากการส่งออกสินค้าและการค้าอัตราแลกเปลี่ยนมาลงทุน
โดยก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ.1974 นายลี กวน ยู ผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์และนายกรัฐมนตรีคนแรก (1965-1990) ก็ได้ตั้ง "เทมาเส็กโฮลดิ้ง" (Temasek Holdings) อันเป็นบรรษัทที่จัดตั้งโดยรัฐบาลสิงคโปร์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นเจ้าของในนามรัฐบาล วัตถุประสงค์ในเวลานั้นก็เพื่อต้องการให้ "เทมาเส็กโฮลดิ้ง" เข้ามาบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจต่างๆ แทนรัฐบาล ปัจจุบันการลงทุนของกองทุนเทมาเส็กได้กระจายไปเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ตั้งแต่การสื่อสาร โทรคมนาคม ภาคการเงิน การขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยา วิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ต่อมารัฐบาลในหลายๆ ประเทศก็เริ่มมีการตั้งบรรษัทเพื่อการลงทุนของรัฐในลักษณะดังกล่าวบ้าง เช่น องค์การการลงทุนอาบูดาบี (Abu Dhabi Investment Authority - ADIA) ของประเทศสหรัฐอาหรับอามิเรสต์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1976 โดยในปัจจุบันกองทุน ADIA ถือเป็น SWF ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีเงินทุนรวมประมาณ 6.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากนั้น SWFs ในประเทศต่าง ๆ ก็ได้มีความเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) ประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเป็นส่วนเกินจำนวนมากก็ได้มีการจัดตั้ง SWFs ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารเงินทุนสำรองส่วนเกิน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ร่ำรวยหรือมีเงินทุนสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นมาจากการค้าน้ำมันหรือการส่งออก
ขอขอบคุณที่มาข้อมูล http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2011q3/2011_August_22p6.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น