เคล็ดลับรวยหุ้น โดย'พีรนาถ โชควัฒนา'เซียนหุ้นรายใหญ่

เคล็ดลับรวยหุ้น โดย'พีรนาถ โชควัฒนา'เปิดเคล็ดลับรวยหุ้น 'พีรนาถ โชควัฒนา' ทายาทอาณาจักรแสนล้าน 'เครือสหพัฒน์' ปลีกวิเวกจากธุรกิจของตระกูล ก้าวสู่เส้นทาง 'เซียนหุ้นรายใหญ่'


สัปดาห์ที่แล้วเกริ่นไปแล้วสำหรับประวัติส่วนตัว พีรนาถ โชควัฒนา เซียนหุ้นรายใหญ่วัย 49 ปี ที่ไม่ขอเปิดเผยใบหน้า เขาเป็น "หลานชายคนโต" จากจำนวนทั้งหมด 17 คน ของ ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ เป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของ บุญเอก โชควัฒนา ลูกชายคนโตของนายห้างเทียม กับ สายพิณ โชควัฒนา จึงนับเป็น "ทายาทรุ่นที่สาม" ของตระกูลโชควัฒนา

ปัจจุบันพีรนาถไม่มีตำแหน่งและไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเครือสหพัฒน์ จนเพื่อนนักลงทุนรายใหญ่ที่นั่งฟังบทสนทนาอยู่ใกล้ๆ แซวว่า อาศัยนามสกุลโชควัฒนา ใช้อย่างเดียวว่างั้น!!! ขณะเดียวกันเจ้าตัวก็ไม่ยอมเปิดเผยมูลค่าพอร์ตลงทุน บอกเพียงว่ามูลค่าพอร์ตเติบโตขึ้นทุกปีและมีเงินใช้ไม่ขาดมือ ขณะที่เพื่อนนักลงทุนบอกกับนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า พอร์ตเท่าไรอย่าสนใจ รู้แค่ว่าชาตินี้ (พีรนาถ) ใช้ไม่หมดก็พอ!!!

“ลำพังเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีหมื่นกว่าบาท เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน จะทำให้มีเงินเก็บสักเท่าไร” ทันทีที่สิ้นสุดความคิด พีรนาถ ก็เดินเข้าโบรกเกอร์ บล.พัฒนสิน เพื่อเปิดพอร์ตลงทุนทันทีแบบไม่ลังเล

เขาเคยขาดทุนหนักตอนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ชนิด "หมดเนื้อหมดตัว" เพราะเชื่อมาร์เก็ตติ้งที่เชียร์ให้เล่น "มาร์จิน" แต่เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนจากเล่นเก็งกำไรไปวันๆ ตามกระแสข่าว มาเป็นลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะหุ้นที่ "ไม่มีหนี้" และราคา "ต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน" ก็สามารถกลับมามีกำไรเป็นกอบเป็นกำ แถมใช้หนี้หมดเกลี้ยงภายในระยะเวลาไม่นาน

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนที่เซียนหุ้นรายนี้ใช้แล้วประสบความสำเร็จสร้างผลตอบแทนได้อย่างงดงามในตลาดหุ้น พีรนาถ เล่าว่าคือการ ผสมผสานระหว่างการดู "กราฟทางเทคนิค" ซึ่งจะบอก "จังหวะ" การลงทุน กับการเลือกหุ้นโดยใช้ "ปัจจัยพื้นฐาน" ตอนนี้เรียกได้ว่า "ไม่มีเส้นกราฟ ผมซื้อหุ้นไม่ได้ (หัวเราะ)"

เขาอธิบายกลยุทธ์ของตัวเองให้ฟังว่า เมื่อสัญญาณทางเทคนิคของหุ้นตัวไหน "กำลังมา" (เทรนด์เป็นขาขึ้น) ก็จะเจาะเข้าไปดู "เนื้อธุรกิจ" (ปัจจัยพื้นฐาน) ของหุ้นตัวนั้น ถ้าดูแล้วเห็นว่าบริษัทนั้นโมเดลธุรกิจไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป ไม่เหนื่อย!! ที่จะทำความรู้จัก ก็จะเข้าไปซื้อไว้ในจำนวนที่น้อยๆ ก่อน

"ผมจะเข้าไปซื้อมาส่วนหนึ่งราวๆ ไม่กี่หมื่นบาท อย่างน้อยเพื่อให้เรามีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น จากนั้นก็ไปศึกษาธุรกิจอย่างละเอียด ถ้าหุ้นดีจริงจะทยอยซื้อเพิ่มเติมในจำนวนที่มากขึ้น โดยไม่มีกำหนดว่าต้องซื้อทั้งหมดเท่าไร (ขึ้นอยู่กับสถานการณ์) ตรงกันข้ามหากสัญญาณเทคนิคมา แต่เนื้อธุรกิจยุ่งยากเกินไป ผมจะไม่ซื้อ ปล่อยผ่านไปเลย"
พีรนาถ บอกว่า ที่ผ่านๆ มา ปล่อยหุ้นสัญญาณเทคนิคดี (กราฟสวย) ไปหลายตัวแล้ว โดยให้เหตุผลว่า "ผมแก่เกินไปที่จะให้ไปนั่งศึกษาโมเดลหุ้นที่ยากๆ มันเหนื่อย!" ทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทแบบนั้นแล้ว ที่ผ่านมาลงทุนด้วยกลยุทธ์ที่เล่าให้ฟังนี้ ก็สามารถทำกำไรได้ค่อนข้างมาก

เซียนหุ้นนามสกุลโชควัฒนาบอกจุดหักเหที่นำเอากราฟเทคนิคมาประยุกต์ใช้ร่วมกับปัจจัยพื้นฐานว่า ช่วงที่ตัดสินใจศึกษาเส้นเทคนิคเป็นเพราะมีความรู้สึกว่า ถ้าเรายังมีความคิดว่าเราเป็น "เจ้าของบริษัท" ในหุ้นที่ถืออยู่ อาจทำให้เรามีปัญหาการ "ยึดติด" และ "เข้าข้างบริษัท" จนลืมมองหรือมองข้ามหลายๆ จุดที่เป็น "จุดอ่อน" ของบริษัท พอมีคนรู้จักมาชวนให้ไปเรียนจึงตัดสินใจไปแบบไม่ลังเล

"ตอนเรียนเทคนิคผมเข้าใจหลักการหมดเลยแต่ พูดง่าย..ทำยาก ทุกวันนี้ก็ยังศึกษาอยู่พยายามนำสิ่งที่ถนัดมาดัดแปลงให้เป็นตัวเรามากที่สุด ยอมรับว่าในช่วงที่มั่วๆ กับเส้นเทคนิค ผมเสียเงินไปเยอะโดยเฉพาะค่าคอมมิชชั่น เพราะเลือกใช้กลยุทธ์ “ขึ้นซื้อ..ลงขาย” ต่างจากช่วงที่เล่นแนวแวลู อินเวสเตอร์ ไม่ค่อยเปลืองค่าคอมมิชชั่นท่าไร เมื่อมันเปลืองเงิน ผมจึงนำมันมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ซึ่งมันก็ใช้ได้ผลดีมาก (พูดด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ)"

ถามว่าวันนี้มีหุ้นในพอร์ตกี่ตัว พีรนาถ ตอบว่า มีเป็น "ร้อยตัว" (ทำท่าคิด) แต่ตัวหลักๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดมีประมาณ 10 ตัว ส่วนที่ไม่ใช่ตัวหลักๆ ใช่ว่าหุ้นเขาไม่ดี แต่เป็นเพราะว่าเราเข้าใจธุรกิจเขาน้อยเกินไป และไม่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด

"ในพอร์ตผมจะมีหุ้นที่เป็น Laggard (ขึ้นช้ากว่าเพื่อน) ประมาณ 3 ตัว ในตัวหลัก 10 ตัว ผมขอไม่เปิดเผยรายชื่อหุ้น บางตัวถือมานาน 3-4 ปี บางตัวถือ 8 ปี ซึ่งปีก่อน (2554) 3 ตัวนี้ให้ผลตอบแทนประมาณ 17% ผมคาดว่าจะซื้อเพิ่มเติมในปี 2555 เพราะอาจให้ผลตอบแทนดีกว่าเดิม"

ทำไม! ถึงสนใจหุ้น Laggard ที่ชาวบ้านเขาขึ้นกันแต่ตัวนี้ยังไม่ขึ้น เขาบอกข้อดีของหุ้น 3 ตัวที่ถืออยู่ว่า ข้อหนึ่ง..ราคาหุ้นยังต่ำ และยังมีอัพไซด์อีกมาก ข้อสอง..ผู้บริหารเก่ง แต่มีความผิดพลาดเล็กน้อยในอดีต ซึ่งคนยังไม่ยอมลืม คิดดูสิ! เขาสามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นได้ ผมยังทำไม่ได้เลย เขาเก่งมั้ยละ! ส่วนตัวเชื่อว่าผู้บริหารจะสามารถนำพาธุรกิจดีขึ้น เพราะได้ผ่านช่วงเลวร้ายมาแล้ว ข้อสุดท้าย..ในระยะ 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะเติบโตทุกปี ด้วยตัวของเขาเอง

"หุ้น Laggard ที่ผมถืออยู่ 2 ใน 3 บริษัทจ่ายปันผลทุกปี ส่วนอีกหนึ่งบริษัทจ่ายปันผลเกือบทุกปี ถามว่าวันนี้หุ้น 3 ตัวนี้ สร้างผลตอบแทนให้ผมคุ้มค่าหรือยัง ณ ราคาวันนี้บวกกับเงินปันผลอาจไม่ค่อยคุ้มเท่าไร แต่อีกไม่นานจะคุ้มค่า..ผมเชื่อแบบนั้น"

สำหรับการหาข้อมูล พีรนาถจะคลุกวงในด้วยตัวเอง เขาจะไม่เชื่อโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อต่างๆ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ บทความดังๆ ก็ไม่อ่าน ไม่ฟังเพื่อน (แต่มักมีข้อมูลจากเพื่อนผ่านเข้าหูตลอด) และไม่ฟังมาร์เก็ตติ้ง คนที่จะเป็นมาร์เก็ตติ้งของพีรนาถจะต้องอยู่เฉยๆ รอรับคำสั่งอย่างเดียว อย่าชี้แนะ! ไม่ต้องออกความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น

สาเหตุที่ทำให้เซียนหุ้นรายนี้ต้อง "ปิดตัวเอง" จากการรับฟังโฆษณาชวนเชื่อจากภายนอก เป็นเพราะ "เข็ด" มาจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 มาร์เก็ตติ้งชวนให้เล่น Net Settlement และใช้มาร์จินเล่นหุ้น แถมมาทักไม่ให้ซื้อหุ้นตัวที่อยากได้ แต่กลับไปเชียร์ให้ซื้อตัวอื่น ทำให้ “ขาดทุนย่อยยับ”
เจ้าตัวเลยถือคติ "จะไม่ลอกการบ้านใคร" แต่ก็ยอมรับว่า "นี่คือ ข้อเสียอย่างหนึ่งของผม"

"ที่ผ่านมาผมก็มักวิเคราะห์ "ข้อเสีย" ตัวเองเสมอ เพราะการไม่ฟังอะไรเลย ก็ทำให้ "ขาดทุน" ได้เหมือนกัน ที่ผ่านมาก็พยายามแก้ความคิดของตัวเองว่าเป็นเพราะอะไรจึงขาดทุน ช่วงนี้ก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับเทคนิคมากขึ้นมีอะไรต้องเรียนรู้อีกมาก"

การฝึกฝนตัวเองของพีรนาถ ยังคงฝึกฝนอยู่อย่างต่อเนื่องเหมือนความรู้ที่ศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด ทุกวันนี้เขาใช้เวลากับการอ่านกราฟเทคนิควันละหลายชั่วโมง พยายามคิดหาเหตุผลจากกราฟว่า ทำไม! หุ้นตัวนี้ถึงโดนขาย ขายเพราะอะไร ใครเป็นคนขาย อย่างช่วงที่หุ้นโออิชิ กรุ๊ป (OISHI) ลงเยอะๆ ก็เข้าไปดูรายละเอียดก็เห็นว่าเป็นเพราะ ตัน ภาสกรนที ขายออกมา ทุกอย่างย่อมมีเหตุและผล

"จริงๆ ผมเล่นหุ้นคนเดียว แต่จะมีเพื่อนๆ คอยมาแลกเปลี่ยนทัศนะคติกัน แต่ไม่เคยเชื่อกันเลย (หัวเราะ) เล่นหุ้นกันคนละสไตล์ เพราะชอบไม่เหมือนกัน นานๆ ทีจะใจตรงกันแบบไม่ได้นัดหมาย" พีรนาถบอก ขณะที่เซียนหุ้นรายใหญ่เจ้าของนามแฝง “กาละมัง” พูดแทรกขึ้นระหว่างการสนทนาว่า "จริงๆ เขา (พีรนาถ) พอร์ตใหญ่กว่าผม ใจกล้ากว่าผม"

พีรนาถไม่ยอมวิเคราะห์ว่าหุ้นกลุ่มไหนกำลังจะมาแรง บอกแต่เพียงว่าหุ้น 3 ตัวที่ถืออยู่ "น่าจะมา" ระหว่างนั้นเพื่อนตะโกนบอกนักข่าวบิซวีคว่า เดี๋ยวแอบบอกชื่อหุ้นให้หลังไมค์ พีรนาถรีบห้ามไว้ "ผมคิดว่าไม่ควรลงชื่อหุ้น ผมอยากให้หุ้นของผมไปช้าๆ เมื่อมีเงินก็จะได้มาเก็บเพิ่ม ราคาไปเร็วมันไม่ดีเท่าไร"

ทายาทรุ่นที่สามตระกูลโชควัฒนาพูดด้วยความภาคภูมิใจว่า "การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตผม ที่ผ่านมาผมลงทุนหุ้นเกิน 100% มาตลอด ไม่มีตลาดหุ้นก็ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร โดนแม่บ่นประจำ ไม่รู้จะบอกเพื่อนว่าลูกทำอาชีพอะไร"

"ผมคิดว่าลงทุนในตลาดหุ้นดีกว่าไปทำงานอย่างอื่น (สมัครงานที่ไหนใครจะรับคนนามสกุลนี้) เพราะเราไม่ต้องไปทำอย่างอื่นให้มันมีความเสี่ยง ผมจะลงทุนในตลาดหุ้นตลอดไป ไม่มีอะไรมาทำให้ผมเลิกเล่น"

ทุกวันนี้ พีรนาถจะซื้อขายหุ้นผ่านอินเทอร์เน็ต เล่นอยู่หลายโบรก เช่น บล.เอเซีย พลัส, บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง เป็นต้น ส่วนใหญ่จะนั่งประจำอยู่ที่ออฟฟิศที่ร่วมหุ้นกับเพื่อนๆ วิถีชีวิตประจำวันตื่นเช้ามาอ่านข่าว กดดูกราฟ ถ้าชอบตัวไหนก็ซื้อเลย..หากมีเงินนะ!!! เขาบอก

ในฐานะเซียนหุ้นรุ่นพี่ที่ผ่านมาแล้วทุกวิกฤติ เหวอะหวะมาแล้วจากแบล็คมันเดย์ วิกฤติต้มยำกุ้ง มาถึงแฮมเบอร์เกอร์ไครซีส อยากฝากถึงนักลงทุนมือใหม่ว่า ก่อนลงทุนต้องหาตัวเองให้เจอ อย่าลงทุนตาม “เซเลบ” (คนดัง) ถ้าเป็นแบบนั้นน่าเป็นห่วงจะขาดทุนไม่รู้ตัว

"นักลงทุนต้องรู้จักวิเคราะห์พื้นฐานให้เป็น เมื่อถือหุ้นแล้วต้องหัดไปประชุมผู้ถือหุ้น อย่างตัวผมเองมักจะยกมือถามคำถามต่างๆ เป็นคนสุดท้าย หากมีเรื่องที่ต้องการคำตอบแล้วยังไม่มีใครถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ที่สำคัญผมไม่คิดอยากถือหุ้นใหญ่กว่าเจ้าของ ปล่อยให้เขาดูแลผลประโยชน์ให้เราดีกว่า"

ปิดท้าย!!! เซียนหุ้นรายใหญ่นามสกุลโชควัฒนา ถ่อมตัวว่า "ผมเล่นหุ้นไม่เก่ง" ยังยืนยันคำเดิม แม้ในอดีตจะเคยได้รับรางวัลผู้ถือหุ้นคุณภาพจาก TSD ในปี 2550 "ผมยังไม่รู้เลยว่าได้ด้วยเหตุผลอะไร ใครเสนอชื่อผมขึ้นไป แล้วใครมาสัมภาษณ์ผม" เจ้าตัวยังงงๆ
ที่มา bangkokbiznews.com






ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์