แบงก์ออกหุ้นกู้เลี่ยงจ่ายต๋ง แย่งเงินในตลาด

แบงก์ออกหุ้นกู้เลี่ยงจ่ายต๋ง แย่งเงินในตลาด
ความพยายามในการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่มีกว่า 1.14 ล้านล้านบาท โดยการโอนให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล ที่ต้องนำเงินงบประมาณส่วนหนึ่งไปใช้ในการคืนหนี้ ซึ่งขณะนี้ผ่านพ.ร.ก.แก้ไขหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปแล้ว


แต่ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาว่าท้ายที่สุดแล้วจะต้องเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯมากน้อยแค่ไหน และความเหลื่อมล้ำระหว่างธนาคารเอกชน กับธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ยังคงเป็นประเด็นถกเถียง และยังไร้ข้อยุติ...

ว่าท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารพาณิชย์เอกชนต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน จากปัจจุบันต้องส่งเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากในสัดส่วน 0.4% ของเงินฝาก

แถมยังถูกบีบด้วยมาตรการคุมเข้มการออกตั๋วแลกเงิน (บีอี) ที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม และต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จากเดิมที่การออกตั๋วบีอี เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการระดมทุนของธนาคารพาณิชย์เอกชน ที่ทำได้ และต้นทุนต่ำ เพราะไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ

ความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น...ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการเลี่ยงจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ โดยล่าสุด 2 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อย่างธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ใช้รูปแบบการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ซึ่งมีอายุยาวถึง 10 ปี เสนออัตราดอกเบี้ย 4.50% และจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อย

โดยธนาคารไทยพาณิชย์เปิดขายระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 17-23 ก.พ. ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ขายระหว่างวันที่ 6-14 ก.พ. โดยมีเงื่อนไขธนาคารสามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด

ขณะที่มีรายงานว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ก็มีแนวคิดออกหุ้นกู้เช่นเดียวกัน โดยอยู่ระหว่างการให้สถาบันจัดอันดับเรทติ้งส์ พิจารณาเครดิตเรทติ้งส์

ขณะที่ความพยายามเจรจาระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ยังไร้ข้อสรุปว่า ท้ายที่สุดแล้วจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่มขึ้นในอัตรามากน้อยแค่ไหน...

โดย ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ในการหารือกับธปท.วานนี้ (2 ก.พ.) เป็นการพูดคุยจากตัวเลขว่าหากเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราใดจะใช้เวลากี่ปีถึงจะหมด แต่ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าธนาคารัฐจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเงินฝากด้วยหรือไม่ เนื่องจากเงินฝากจะไหลไปอยู่กับธนาคารเฉพาะกิจมากขึ้น ซึ่งจะกระทบกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ได้หากฐานเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ ทางสมาคมธนาคารไทยคงต้องเข้าหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อชี้แจ้งผลกระทบดังกล่าวให้เข้าในอีกครั้งหนึ่ง

"วันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติอะไร เพราะการจัดเก็บเงินค่าธรรมนียมดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามสมมติฐาน เมื่อฐานเงินฝากไม่ได้โตอย่างที่คิด เช่น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเงินฝากโยกไปอยู่กับแบงก์รัฐโดยเงินฝากของธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นถึง 3 แสนล้านบาท จึงอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ 25 ปีตามที่คิดไว้ก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องชี้แจงให้กระทรวงการคลังเข้าใจ"

อริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ให้ควาเห็นกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การเร่งระดมเงินผ่านการออกหุ้นกู้ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกรณีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะลดสัดส่วนคุ้มครองเงินฝากลงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท ภายในเดือนส.ค.ของปีนี้ ทำให้แบงก์จำเป็นต้องสำรองสภาพคล่องไว้รองรับ

นอกจากนี้ การที่ก.ล.ต.เตรียมออกฏให้ธนาคารพาณิชย์ที่ออกตั๋วบีอี ต้องเสียค่าธรรมเนียม และขออนุญาตจากก.ล.ต. ทำให้ต้นทุนในการออกตั๋วบีอีเพิ่ม แบงก์พาณิชย์จึงหันมาออกหุ้นกู้แทน แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการฝากเงินตามปกติ แต่ข้อได้เปรียบของการออกหุ้นกู้ ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่มีภาระต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ 0.4%

อริยา ยอมรับว่า กระแสการระดมเงินผ่านการออกหุ้นกู้ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เพื่อเลี่ยงการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ อาจส่งผลกระทบต้นทุนผู้ประกอบการที่เตรียมระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาฯที่เตรียมออกหุ้นกู้ เพื่อนำไปใช้ในการขยายธุรกิจ

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย แนะนำนักลงทุนรายย่อยที่มีความสนใจลงทุนผ่านหุ้นกู้ของธนาคารพาณิชย์ว่า ต้องศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน เพราะรูปแบบการระดมทุนของแบงก์เป็นการลงทุนระยะยาว และมีเงื่อนไขสามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด และอาจทำให้เสียโอกาสผลตอบแทนการลงทุนในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น
ที่มา http://money.impaqmsn.com



ไม่มีความคิดเห็น:

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์