โดยโครงการให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้มาเรียนรู้วิธีสร้างความมั่งคั่งด้วยวิธีนี้ได้ ด้วยการประดิษฐ์ “พอร์ตลงทุน” ของตัวเอง โดยใช้กองทุนรวมแต่ละประเภทเป็นเครื่องมือหรือสินทรัพย์ลงทุนกันไปแล้วซึ่งในสัปดาห์นี้ เรามาเรียนรู้ 2 ขั้นตอนหลัก การสร้างพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับตัวคุณ ที่จะพาคุณไปสู่ความสำเร็จในการลงทุน กันก่อนนะครับ
เพราะคนเราอยากมีเงินออมไว้ใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ในเวลาที่ไม่เหมือนกัน ในขณะที่เงินลงทุนก็มีปริมาณแตกต่างกัน ดังนั้น การออกแบบพอร์ต จึงต้องเริ่มจาก “แผนการลงทุน” ของแต่ละคนก่อน เช่น พอร์ตของคนทำงาน พอร์ตของคนโสด พอร์ตของคนสูงวัย ในขั้นตอนนี้ ถือว่าเป็นการสำรวจตัวเอง ว่าเรามีเป้าหมายทางการเงินอย่างไร มีรายได้ ภาระ หรือแผนชีวิตเช่นไร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ คือเงื่อนไขสำคัญเพื่อการกำหนดรูปแบบพอร์ตลงทุน ที่จะต้องสร้างผลตอบแทน ให้สนองตอบต่อแผนชีวิต เพราะอย่าลืมว่า “แผนชีวิต เป็นจริงได้ ใช้เงินทำ” อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วพอร์ตลงทุน มักมีรูปแบบนโยบาย ดังต่อไปนี้
- แบบปกป้องมั่นใจ-Capital Preservation : คือให้พอร์ตมีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่เน้นให้เงิน
ต้น หรือเงินลงทุนไม่สูญหาย ซึ่งการลงทุนแบบนี้ จะลดโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนสูงๆ เพราะต้องมีต้นทุนในการปกป้องเงินทุนไม่ให้หดหาย กองทุนรวมที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์แบบนี้ อาทิเช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นต้น
- แบบสร้างรายได้ประจำ-Current Income : ด้วยวัตถุประสงค์ที่คุณอยากได้กระแสเงินสดรับ
หรือรายได้ที่แน่นอน อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นรายได้ประจำกลับมาใช้หมุนเวียน หรือมาลงทุนเพิ่ม กองทุนรวมที่ให้ดอกผลแบบนี้ ก็เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีการจ่ายเงินปันผล กองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เป็นต้น
- แบบเพิ่มค่าเงินทุน-Capital Appreciation : เพื่อให้เงินลงทุนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าเงินเริ่มลงทุนเริ่มต้น หรือเรียกอย่างง่ายๆ ว่า คุณมุ่งหวังให้ได้รับผลตอบแทนจำนวนมาก จากพอร์ตการลงทุน และสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ โดยกองทุนรวมที่ตอบความต้องการแบบนี้ เช่น กองทุนรวมหุ้นสามัญที่เน้นลงทุนในกิจการที่เติบโต เป็นต้น อย่างไรก็ดี คนที่เลือกนโยบายพอร์ตแบบนี้ ต้องยอมรับว่า มีโอกาสทั้งได้ผลตอบแทนสูงและขาดทุนได้เช่นกัน
- แบบผลตอบแทนรวม-Total Return : เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี จากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ผสมผสานกันไป เพราะแต่ละรูปแบบกองทุนที่นำเงินไปลงทุน มีหลากหลายสินทรัพย์ ที่มีธรรมชาติของการเพิ่มค่า ความผันผวน ความมั่นคง ที่แตกต่างจากกัน หรืออีกนัยหนึ่ง คือเน้นให้มีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยกองทุนรวมที่อยู่ในพอร์ตของคุณอาจเป็น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น
ขั้นที่ 2.สร้างความรู้ ดูทางเลือก
เมื่อมีแผนการลงทุนของตัวเอง เลือกวัตถุประสงค์ และนโยบายการลงทุนของตนเองได้แล้ว ในขั้นตอนต่อไป เราต้องเตรียมความรู้ให้กับตัวเองเพิ่มเติม โดยสำรวจและวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมการลงทุน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสร้างพอร์ตการลงทุนของเรา อาทิเช่น
สำรวจช่องทาง ตัวเลือกการลงทุน : เพราะสมัยนี้เป็นยุคของผู้บริโภคที่สามารถเลือกการลงทุนได้หลากหลายรูปแบบ คล้ายๆ กับการสั่งตัดเสื้อผ้า เพราะความหลากหลายของสินค้าก็ดี บริการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซื้อขายหน่วยลงทุน ทั้งช่องทางปกติที่มีอยู่ตามเคาน์เตอร์ธนาคารพาณิชย์ บริษัหหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ซึ่งมีถึง 21 แห่ง หรือแม้กระทั่งโบรเกอร์ก็ยังให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม หรือการให้บริการทางการเงิน ผ่านช่องทางอิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ
ในขณะที่ กองทุนรวมก็มีหลากหลายนโยบาย ทั้งลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ในทองคำ หรือในน้ำมัน ซึ่งมีผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป ขั้นตอนนี้ จึงถือว่าสำคัญมาก เพราะอย่างน้อยเราต้องเข้าใจธรรมชาติพื้นฐานของสินทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน นำเงินไปลงทุน ว่าให้ผลตอบแทนและมีความเสี่ยงเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถศึกษาหาข้อมูลได้ที่ www.thaimutualfundnews.com www.aimc.or.th หรือ website ของบริษัทจัดการทั้ง 21 แห่ง รวมถึงหนังสือชี้ชวนลงทุนของแต่ละกองทุนด้วย
ประเมินภาวะตลาด : อีกปัจจัยที่ต้องลงมือทำความเข้าใจ คือการศึกษาถึงสภาพเศรษฐกิจ ทั้งในระดับใหญ่หรือมหภาค และระดับย่อยคือจุลภาค ที่รายล้อมการลงทุนอยู่ เพื่อให้เราทราบว่าเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมระดับโลกและระดับประเทศเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคตด้วย เพราะตัวแปรทางเศรษฐกิจ บางตัวก็ส่งผลกระทบกับทุกธุรกิจ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่จะเป็นผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบ ก็ต้องพิจารณาในรายละเอียดกันต่อไป แต่บางตัวแปรอาจส่งผลกระทบกับบางธุรกิจเท่านั้น เช่น เมื่อเกิดสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นขึ้น ธุรกิจส่วนมากได้รับผลกระทบในทางลบ เช่นกลุ่มยานยนต์ต้องหยุดผลิตชั่วคราว แต่ขณะเดียวกันอาจเป็นผลดีกับบางธุรกิจเช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง อาจจะมีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สามารถส่งออกอาหารไปยังญี่ปุ่นได้มากขึ้น เป็นต้น ดังนั้น ภาพรวมของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่มีผลกระทบต่อผลประกอบการของหน่วยธุรกิจต่าง ๆ จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่เราต้องเรียนรู้และติดตาม เพื่อประเมินความเสี่ยงและพยากรณ์อัตราผลตอบแทนที่น่าจเกิดขึ้นและควรได้รับ โดยอาจอาศัยเครื่องมือต่างๆ ในการประเมินภาวะตลาด เช่น ความเห็นของเสียงข้างมาก หรือ ตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาค (อัตราเงินเฟ้อ, อัตราดอกเบี้ย, การเติบโตของ GDP) เป็นต้น
ในสัปดาห์หน้ามาพบกับ 2 ขั้นตอนสุดท้าย ในการทำให้พอร์ตการลงทุนของคุณ ก็จะออกดอกออกผลได้ตามแผนที่วางไว้ กันนะครับ
ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น