ธุรกิจให้ต้นไม้ของชำร่วย-ของขวัญ ทำเงินแบบสวยๆงามๆรักธรรมชาติ

ธุรกิจให้ต้นไม้ของชำร่วย-ของขวัญ ทำเงินแบบสวยๆงามๆรักธรรมชาติ
สินค้างานประดิษฐ์ประเภท “ของที่ระลึก-ของชำร่วย” มีการต่อยอดพัฒนาออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง อาจเพราะตลาดสินค้าประเภทนี้เป็นตลาดที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงดัดแปลงสินค้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับยุคสมัยและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดของลูกค้า แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสินค้าประเภทนี้ก็ยังจัดว่าเป็นสินค้าที่มีผู้สนใจมาก และวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ ก็มีอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างมานำเสนอ วันนี้มาดูการทำ-การขาย ’ต้นไม้ของชำร่วย“

“สุภาภรณ์ วิทโยภาส” ทำงานไอเดียแนวอีโคสีเขียว “ต้นไม้ของชำร่วย” จำหน่าย เจ้าตัวเล่าว่า เดิมทีมีอาชีพรับผลิตถุงผ้า, ถุงหูกระต่าย, ผ้ากันเปื้อน, ผ้าปิดตา, กระเป๋าเหรียญ และต้นไม้ของชำร่วยเล็ก ๆ ในกระถางรูปแบบต่าง ๆให้กับลูกค้า ต่อมาจึงคิดว่าถ้าสามารถนำสินค้ามาดัดแปลงประยุกต์ปรับให้เข้ากัน ก็น่าจะช่วยเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าภายในร้านได้มากขึ้น ประกอบกับมองว่าปัจจุบันกระแสอีโคหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติกำลังเป็นที่สนใจ จึงทดลองประดิษฐ์และดัดแปลง จนออกมาเป็นสินค้าในรูปแบบอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้ยี่ห้อสินค้าที่ลูกค้ารู้จักดีในชื่อ “ร้านพอใจคุณ” หรือ “Porjaikhun Shop”


“เรามองว่าเรามีวัสดุหรือสินค้าที่เป็นของเดิมอยู่แล้ว หากนำมาพัฒนาดัดแปลงให้มีลักษณะเป็นของชำร่วยในรูปแบบของเรา และสามารถที่จะนำวัสดุเดิมที่เรามีอยู่มาต่อยอดได้ ก็น่าจะช่วยทำให้สินค้ามีรูปแบบที่หลากหลายเพิ่มขึ้น” สุภาภรณ์กล่าว

สินค้าที่ผลิตขึ้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับภาชนะ และลักษณะของต้นไม้ที่ใช้ในชิ้นงาน ภาชนะก็มีอาทิ ตะกร้า, ถุงผ้า, ถุงกระสอบ, ขวดพลาสติก ฯลฯ ซึ่งสามารถที่จะนำวัสดุเหลือใช้มาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นชิ้นงานต่อยอดออกไปได้ตลอด ส่วนต้นไม้นั้น ที่ลูกค้านิยมสั่งทำเป็นของชำร่วยมีอยู่ 3 ประเภทคือ ผักสวนครัว ไม้มงคล และต้นข้าว

สุภาภรณ์บอกว่า ลูกค้าที่มาสั่งทำชิ้นงานส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าคู่รัก-คู่แต่งงาน โดยต้นไม้ส่วนใหญ่ที่กลุ่มนี้เลือกมักจะเป็นผักสวนครัวกับต้นข้าว โดยผักสวนครัวที่ลูกค้านิยมนั้นมักจะเป็นผักที่มีชื่อที่ฟังแล้วเป็นมงคล หรือไม่ก็เป็นผักสวนครัวที่มีทรงหรือรูปแบบของใบที่สวยงาม อาทิ ต้นสะระแหน่, ต้นแมงลัก, โหระพา รวมถึงต้นข้าว ส่วนลูกค้าอีกกลุ่มคือลูกค้ากลุ่มบริษัทห้างร้าน ซึ่งก็จะนิยมชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา และมักจะเลือกใช้เฉพาะไม้มงคล

ช่องทางการจำหน่ายนั้น สุภาภรณ์กล่าวว่า ขณะนี้ใช้ช่องทางการขายผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊กเป็นหลัก โดยจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.porjaikhun.lnwshop.com และ www.facebook.com/porjaikhun ซึ่งการจำหน่ายผ่านช่องทางนี้ ข้อดีคือต้นทุนน้อย และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด แต่มีหลักสำคัญคือ ต้องพยายามทำให้ชื่อสินค้าหรือประเภทของสินค้าเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้า โดยอาจใช้วิธีการสร้างคำหรือชื่อสินค้าที่สะดุดตา เพื่อที่เวลาลูกค้าค้นหาจากอินเทอร์เน็ตก็จะทำให้ชื่อสินค้าปรากฏอยู่ในลำดับต้น ซึ่งมีผลต่อการเปิดเข้าชมหน้าร้านออนไลน์

นอกจากนี้ ก็ควรจะทราบด้วยว่าลูกค้าในกลุ่มสินค้าของเรานั้นมีพฤติ กรรมหรือมีลักษณะการใช้งานอย่างไร เพื่อที่จะทำให้การจำหน่ายหรือโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์มีประสิทธิภาพ ตรงจุดตรงใจกับความต้องการของลูกค้าเร็วขึ้น

ทุนเบื้องต้นอาชีพลักษณะนี้ ใช้ประมาณ 20,000 บาท ขณะที่ทุนวัสดุต่าง ๆ อยู่ที่ประมาณ 60% จากราคาขาย โดยราคาสินค้าของสุภาภรณ์มีตั้งแต่ชิ้นละ 10 บาท ไปจนถึง 40 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด ภาชนะ และต้นไม้ที่ใช้

วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ได้แก่ ถุงผ้า, ผ้ากระสอบ, ริบบิ้น, ดินพร้อมปลูก, หินสีสำหรับประดับตกแต่ง, กาบมะพร้าวฉีกฝอย, กระถางพลาสติกหรือขวดนมใช้แล้ว, กรรไกร, เข็มกับด้าย, ต้นไม้สำหรับปลูก และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ ตามต้องการ

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการเตรียมต้นไม้ที่จะปลูก ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นคนกำหนดหรือเลือกต้นไม้ที่ต้องการมาให้ เมื่อเลือกต้นไม้ได้แล้วก็นำต้นไม้มาดัดตกแต่งให้ได้พุ่ม หรือตัดใบที่ไม่สวยออก จากนั้นทำการเตรียมดินสำหรับปลูกใส่ลงกระถางพลาสติกหรือภาชนะที่เตรียมไว้ ทำการจัดวางต้นไม้ใส่ลงไปในภาชนะ ปรับหน้าดินในกระถาง

จากนั้นก็นำมาจัดเรียงลงถุงผ้า หรืออาจใช้ผ้ากระสอบรัดรอบภาชนะปลูก แล้วจึงใช้ริบบิ้นพันโดยรอบ นำหินสีมาโรยใส่เพื่อเพิ่มความสวยงาม เป็นอันเสร็จขั้นตอนหลัก ๆ ในการทำ

“สำหรับต้นไม้ที่ใช้ปลูกนั้น ระยะเวลาการปลูกไม่เท่ากัน ก่อนที่จะส่งให้ลูกค้าจะต้องทำการปลูกไว้ก่อน โดยหากเป็นต้นข้าว ให้เพาะเมล็ดข้าวไว้ล่วงหน้าก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ จะได้ต้นข้าวที่มีความสูงขนาดพอดี ไม่สูงหรือเตี้ยเกินไป หากเป็นผักสวนครัวก็ใช้ระยะเวลาเตรียมปลูกไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากเป็นไม้ประดับก็จะใช้เวลานานมากกว่านั้น ซึ่งหากต้องการเพิ่มความรวดเร็วก็อาจใช้วิธีไปเลือกซื้อไม้ประดับสำเร็จรูปมาใช้ก็ได้ แต่ก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเล็กน้อย” สุภาภรณ์อธิบายแนะนำถึงการเตรียมต้นไม้สำหรับนำมาใช้จัดลงชิ้นงาน ’ต้นไม้ของชำร่วย“

ใครสนใจชิ้นงานลักษณะนี้ ต้องการติดต่อกับกรณีตัวอย่าง ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-6335-3541 หรือทางอีเมล porjaikhun@gmail.com หรือหากอยากจะชมสินค้าก็สามารถเปิดเข้าไปดูได้ตามเว็บไซต์ที่ระบุไว้แต่ต้น ทั้งนี้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่เกี่ยวกับของชำร่วย ที่ตอกย้ำว่าตลาดตรงนี้ยังไม่ตัน...

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ เรื่อง - ภาพ
ที่มาเดลินิวส์






ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์