ธุรกิจยอดขายร้อยล้านต่อปี สยามแบรนด์จาก “แมส” สู่ “ดีไซน์”
"ถ้าเป็น 5 ปีที่แล้ว ขายดีมาก ปีๆหนึ่งยอดขายเป็นร้อยล้าน ส่งออกรองเท้าเดือนละ 1-2 ตู้ เป็นปกติโดยไม่ต้องออกแฟร์ ออร์เดอร์มาถึงปาก การผลิตไม่ต้องคิดมาก ทำหน้าที่เหมือนคนก็อปปี้ ผลิตตามแบบที่ลูกค้าสั่งมา แต่ 3 ปีที่แล้ว ออร์เดอร์หายไป 70% และลดลงมาเรื่อยๆ จนเป็นศูนย์ไปแล้ว"
คำบอกเล่าของ จินาวรรณ เฮอร์มานน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแบรนด์ เอนเตอร์ไพร์ส จำกัด สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีไทย ซึ่งอันที่จริงก็ไม่เฉพาะแต่เอสเอ็มอี หากแต่ลามไปถ้วนหน้า ทั้งโรงงานน้อยใหญ่ที่แข่งขันโดยใช้ "ต้นทุนค่าแรง" เป็นหลัก
2-3 ปีมานี้ จินาวรรณ และ สมบวร สุวังกูร -คู่ชีวิต เห็นเพื่อนร่วมวงการหลายรายได้แต่มองตาปริบๆ ที่ออร์เดอร์ในมือถูกถ่ายเทไปที่จีน และเวียดนาม จำนวนไม่น้อยยอมเลิกกิจการ ปล่อยให้โรงงานร้าง ดีกว่าขาดทุนบาดเจ็บไปมากกว่านี้
สยามแบรนด์เอง ผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้ ก็ต้อง "ปฏิวัติ" ครั้งใหญ่ในโรงงาน จากที่ผลิตตามออร์เดอร์จำนวนมากๆ เปลี่ยนมาเป็นการผลิต "จำนวนน้อย" แต่เน้นที่ "ดีไซน์" และ "มูลค่าเพิ่ม" อื่นๆเข้าไป ให้ต้องรสนิยมกลุ่มลูกค้าระดับบน
จากที่ไม่เคยเห็นความสำคัญของ "ดีไซเนอร์" และ "ทีมวิจัยพัฒนา" (R&D) ก็ต้องเพิ่มอัตรากำลัง จาก 2 เป็น 20 ในทางกลับกัน พนักงานในโรงงานผลิต 150 ชีวิตต้องลดจำนวนลงเหลือ 1 ใน 3 และต้องปรับตัวจากที่ชำนาญเฉพาะงานรองเท้า มาเป็นการเพิ่มทักษะในการผลิตสินค้าแฟชั่นอื่นๆได้ด้วยทั้งกระเป๋า เข็มขัด โชคดีที่พื้นฐานของการเป็นช่างรองเท้านั้น อาศัยทักษะและความประณีตสูง เมื่อปรับมาผลิตสินค้าอื่นๆ จึงไม่เป็นการฝืนมากนัก
สยามแบรนด์อาจโชคดีกว่าเอสเอ็มอีรายอื่นที่ปรับตัวได้เร็ว เนื่องจากจินาวรรณมีพื้นฐานของศิลปะและการดีไซน์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม สถานการณ์จึงค่อยๆกระเตื้องขึ้น แต่ก็ยังไม่อาจวางใจได้มากนัก เพราะสินค้าแฟชั่นจากประเทศเล็กๆอย่างไทย ต้องขยันและทำการบ้านอย่างหนักในการแข่งขันกับสินค้าแฟชั่นในตลาดโลกที่มีผู้ทรงอิทธิพลอยู่แล้วอย่าง ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน อเมริกา หรือ จะดูฝั่งเอเชียก็มีผู้ประกาศจับจองตำแหน่งเจ้าแฟชั่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี เซี่ยงไฮ้ หรือ อย่างอินเดียเอง วันดีคืนดีก็ปรับวัฒนธรรมขรึมขลัง คลาสสิกแบบแขกให้ร่วมสมัยมากขึ้น และอ้างถึงการเป็นดินแดนที่มากด้วยภูมิปัญญาผ้ามาช้านาน สร้างความชอบธรรมในการเป็นผู้นำแฟชั่นตะวันออก
ในเมื่อทุกประเทศต่างคิดเหมือนกันว่า ต้องขยับขึ้นตลาดบน และได้ปฏิบัติการแล้วโดยมิได้นัดหมาย เอสเอ็มทีไทยจะหาทางออกอย่างไร
ยุคเฟี่อง
หลังจากจบสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จินาวรรณยึดอาชีพเป็นแอร์โฮสเตสการบินไทยได้พักใหญ่ ก่อนมาทำตกแต่งภายใน (Interior Design) และทำร้านบูติกย่านสยามสแควร์ไปด้วยควบคู่ จินาวรรณจึงได้ลับฝีมือเรื่องการคิดคอนเซ็ปต์และการดีไซน์อยู่ไม่ขาด ภายหลังต้องวางมือจากกิจการอื่นๆไป และเทเวลามาช่วยกิจการผลิตรองเท้าของสามีอย่างเต็มตัว เพราะหุ้นส่วนเดิมประสงค์ที่จะแยกตัวออกไป
ด้วยภาษาอังกฤษที่แคล่วคล่อง เธอจึงรับหน้าที่ด้านมาร์เก็ตติ้ง กิจการดำเนินไปด้วยดี ลูกค้าล้วนเป็นสินค้าแบรนด์เนมที่ sub contract ออกมาให้ผลิต ซึ่งงานของผู้ผลิตแบบ OEM นี่ คือ ทำให้ได้คุณภาพตามที่ลูกค้ากำหนด ความยุ่งยาก และซับซ้อนในการผลิต อยู่ในขั้นตอนการเลือกซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนต่างๆ (supporting supplier) เช่น ส้นรองเท้า โรงฟอก โรงย้อม กระดุม อะไหล่ แต่หากได้ตามสเปคแล้ว งานทุกอย่างถือว่าฉลุย เพราะทางด้านลูกค้าเองจะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานกับโรงงานอย่างใกล้ชิด แต่ละแบรนด์จะคุมคอนเซ็ปต์ ทำวิจัยต่างๆ เป็นฐานสนับสนุนให้การทำงานต่างๆง่ายขึ้น
กิจการเติบโตและขยับขยาย ออร์เดอร์หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับโรงงานรองเท้า เครื่องหนังอื่นๆ ที่กระจายอยู่ทั่วชานเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาคารพาณิชย์และหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่ง ถูกดัดเป็นโรงผลิตขนาดย่อมๆ พอมีทุนมากหน่อยก็ขยับขยายสร้างโรงงานเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา โดยไม่มีใครรู้ว่าช่วงเวลาเรืองรองจะเป็นแค่ชั่วครู่ชั่วยาม
ข้อเสียของเอสเอ็มทีไทย คือ สนใจแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า โดยไม่ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์อนาคตอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้า หรือการปรับตัวของคู่แข่งที่ทำให้เกมการแข่งขันเปลี่ยนไป
ทั้งที่จริง นักวิชาการธุรกิจ เศรษฐกิจได้วิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าหลายปีแล้วว่า การได้เปรียบทางด้าน "ต้นทุน" ของไทยจะกลายเป็นอดีตในไม่ช้า เพราะเมื่อใดก็ตามที่เจ้าของแบรนด์รองเท้า เสื้อผ้า อาหาร และอื่นๆ พบแหล่งผลิตที่ราคาถูกกว่าก็พร้อมจะย้ายไป ซึ่งสำหรับทศวรรษนี้ไม่มีใครเกินจีน เวียดนาม รวมถึงประเทศทางแถบอเมริกาใต้อีกหลายแห่ง
"ค่าแรงประเทศไทยไม่มีทางถูกลงกว่านี้ มีแต่จะสูงขึ้นๆ เราสู้กับจีนไม่ไหว จีนประเทศเดียวเท่ากับไทย 20 ประเทศ เขามี 20 กว่ามณฑล ขณะนี้มีแค่บางมณฑลเท่านั้นที่เข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม แค่เราแข่งมณฑลเดียวก็อยู่ยากแล้ว แล้วลองนึกดูว่า ถ้าอีกหน่อยเขาขยายไปมณฑลอื่นๆด้วย จะทำยังไง" สมบวรบอกถึงความกังวลใจ
"ไม่ต้องอะไรมาก แค่ตอนนี้ อิตาลีที่เป็นผู้นำแฟชั่น ก็เข้าไปเปิดโรงงานที่จีนเองหลายแห่งแล้ว ก็ยิ่งผลิตสินค้าแฟชั่นได้ถูกมากๆ เรายิ่งต้องใช้ครีเอทีฟให้มาก และ ทำงานมากขึ้นกว่าเดิม " จินาวรรณที่ปัจจุบันควบงานทั้งดีไซเนอร์ และ มาร์เก็ตติ้งอธิบายเสริม
ปรับตัวสู้ศึก
สยามแบรนด์ได้ปรับการผลิตมาอย่างน้อย 3 ปี โดยเริ่มแรกอิงจากรสนิยมส่วนตัวของจินาวรรณ ที่สนุกกับการสรรหาเครื่องแต่งกายเก๋แหวกแนว เธอลงมือดีไซน์และรื้อการผลิตใหม่หมดด้วยตัวเอง
"โชคดีที่มีพนักงานเข้าใจ และเก่งๆทุกคน เราเทรนให้เขาผลิตสินค้าได้ทุกชนิด ช่วงแรกผู้ประกอบการต้องใจกว้าง ยอมให้มีการทดลอง ยอมให้มีของเสียเพื่อสร้างทักษะ ยกระดับแรงงานเพื่อที่เขาจะได้แข่งกับคนอื่นได้อนาคต ถ้าผู้ประกอบการไม่เข้าใจจุดนี้ ไม่ยอมมีต้นทุน แรงงานก็จะทำได้เท่าเดิม ไม่ว่ากี่ปีผ่านไป แล้วสุดท้ายก็ไม่มีใครรอด"
การพัฒนาฝีมือแรงงาน (Labor) ให้มีความปราณีต และมองงานผลิตให้เป็น "ศิลป" ที่ต้องรสนิยมผู้บริโภคเป็นสิ่งจำเป็น ในการกระเถิบห่างออกจากการผลิตสินค้าแมสของจีน
วัสดุที่มีสีสันทันสมัย พื้นผิวแปลกตา และกลิ่นไอของความเป็นตะวันออกถูกนำมาผสานกันเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าในตลาดโลก ซัพพลายเออร์ของสยามแบรนด์ยุคใหม่จึงต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงโรงฟอกย้อมเครื่องหนังที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งคบค้ากันมาพักใหญ่ก็จะรู้ใจดีว่า จินาวรรณชอบวัสดุที่แปลกไม่ซ้ำใครหนังปลานิล หนังกิ้งก่า หนังขานกกระจอกเทศ หนังแตก หนังยับที่โรงงานอื่นปฏิเสธ กลับเป็นที่พออกพอใจของผู้ประกอบการรายนี้ เพราะวัสดุที่แตกต่างก็ทำให้ได้สินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ (unique) บางครั้งเมื่อนำมาผสมกับงานถักทอของพื้นบ้าน ก็ยิ่งทำให้ได้ชิ้นงานที่ไม่เหมือนใคร
ทั้งหมดนี้คือการสร้างความแตกต่างที่จินาวรรณและสมบวรบอกว่ามีเสียงตอบรับที่ดี ราคาจำหน่ายต่อหน่วยก็มากกว่าสมัยผลิตสินค้าแมส 3-4 เท่า แต่ความยากในกระบวนการผลิต (production process) ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
เมื่อปรับรูปแบบการผลิต คิดดีไซน์ และสร้าง "แบรนด์" ของตนเองขึ้นมานั้น เท่ากับเป็นการเริ่มหนึ่งใหม่ จากที่ออร์เดอร์วิ่งเข้าปาก ก็ต้องวิ่งออกหาลูกค้า เสนอชิ้นงาน รอการพิจารณาของคณะกรรมการ ส่งข้อเสนอกลับมาปรับแต่งดีไซน์ ยื่นเสนอกลับไป กว่าจะเป็นที่ถูกอกถูกใจนั้นกินเวลามาก
"สินค้าแฟชั่นทำยาก ขั้นตอนยืดยาว แต่ดีตรงที่กำไรมากกว่า แต่ที่ยากกว่านั้นคือ เราต้องเปลี่ยนดีไซน์ให้เร็ว ต้อง dynamic ตลอดเวลา จะเอื่อยเฉื่อยเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ แรงงานก็ต้องพัฒนา เมื่อก่อนทำงานสบายแต่ทำเยอะ ตอนนี้ทำงานน้อย แต่เป็นงานยาก ทั้งตอกหนัง บุ พับเก็บ ฉ่ำลาย ต้องเป็น" สมบวรอธิบาย
ปัจจุบัน ดีไซน์จากสยามแบรนด์ได้ส่งออกไปหลายประเทศทั้งอังกฤษ อเมริกา สปน สวีเดน ตุรกี ออสเตรเลีย เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ป้อนให้กับแบรนด์ดังในประเทศไทยด้วย
"เราต้องครีเอทีฟให้มาก หลายคนอาจเริ่มจากการก็อปปี้ก่อน แต่ต้องก็อปให้เป็น รู้จักประยุกต์ ไม่ใช่ทำอย่างเครื่องซีร็อกซ์ ใช้ตาอย่างเดียว ต้องใช้สมองด้วย แล้วเมื่อวันหนึ่งชำนาญขึ้นก็ค่อยๆ พัฒนาแบบของตัวเองได้ เราจะไปทำเหมือนเขาเปี๊ยบทำไม ต้องทำให้หลากหลายสิ ไทยจะได้เจริญ เหมือนอิตาลี ดีไซเนอร์ทำตัวเป็นอาร์ติสท์ ก็จะขายของราคาแพงได้" จินาวรรณทั้งชักชวนและให้กำลังใจเพื่อนร่วมวงการ
กรุงเทพฯเมืองแฟชั่นความหวังอันเรืองรอง?
โอกาสดีมาเยือนมากขึ้น เมื่อปีนี้รัฐบาลประกาศโครงการ "กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น" ที่จัดงานใหญ่และประกาศให้โลกรับรู้ถึงความสามารถด้านดีไซน์ของคนไทย จินาวรรณเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นการรับรู้ของผู้บริโภคได้มาก แต่ในฐานะผู้ประกอบการ เธอมองว่ายังขาดองค์ประกอบอีกมากที่จะทำให้ไทยแข่งขันได้ในระยะยาว
เธอวอนผ่านไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับ "โครงสร้างภาษี" "การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง" หรือ supporting industry ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าแฟชั่น ตลอดจนการรวมกลุ่ม "คลัสเตอร์" ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยยกตัวอย่างถึงเคมีสำหรับการย้อมหนังอัตราภาษียังสูงมาก หรือการผลิตส้นรองเท้าคุณภาพดีที่ตรงตามสเป็คลูกค้านั้น บ่อยครั้งหาไม่ได้เลยในเมืองไทย ยังจำเป็นต้องนำเข้าจากอิตาลี ซึ่งโครงสร้างภาษีของการนำ "ชิ้นส่วน" เข้ามาประกอบนั้นสูงกว่า "รองเท้าสำเร็จรูป" ทำให้ผู้ผลิตรองเท้าของไทยเสียเปรียบการแข่งขันกับผู้นำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายรองเท้าจากต่างประเทศ
ครั้นจะขึ้นพิมพ์ผลิตส้นเอง ก็เป็นเรื่องเกินกำลังของเอสเอ็มอีเล็กๆ ที่ต้องแบกภาระค่าพิมพ์ และปริมาณการผลิตไม่สูงมากพอตามหลักประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ประเทศที่จะทำเช่นนั้นได้ ต้องอยู่ในฐานะศูนย์กลางซัพพลายเออร์อะไหล่เครื่องหนังและรองเท้า
จินาวรรณเล่าบรรยากาศที่เห็นในเมืองกวางเจา ที่นครการค้าแห่งนี้จะมีช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ ที่ทั้งอาคารจะจำหน่ายเฉพาะอะไหล่รองเท้า ส้นมีนานาชนิด จะหาส้นแก้ว ส้นไม้ ส้นสแตนเลส หรือ ส้นสวมแหวนเพชรก็เลือกหาได้ที่นี่ อีกอาคารก็เพียบด้วยอะไหล่กระเป๋า ผู้ผลิตจากทั่วโลกสามารถเลือกช็อปปิ้งแบบชิ้นส่วนและอะไหล่นานาชนิดได้ การลงทุนขึ้นโมลด์หรือแม่พิมพ์จึงคุ้มค่าเหลียวมองประเทศไทย ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ นึกแหล่งรวมอะไหล่เครื่องหนังและรองเท้าได้แค่ "ถนนเสือป่า" และ "ซอยสารภี" ย่านวงเวียนใหญ่ซึ่งการจราจรแน่นขนัด ร้านรวงแม้จะมีมากพอสมควร แต่ต้องเรียกว่าห่างชั้นกับกวางเจามากนัก
การปรับโครงสร้างภาษีสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าแฟชั่น จึงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการแข่งขัน ก็ในเมื่อรัฐประกาศให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นทัพหน้าในการแข่งขันของประเทศแล้ว ก็ควรส่งเสริมให้ครบกระบวน ไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้าจีนคิดขยับขึ้นมาทำสินค้าแฟชั่นของตัวเองแข่งตลาดโลก ไทยก็จะพบกับความยากลำบากอีกครั้ง เพราะไม่มีเฟืองที่หนุนให้เดินหน้าได้เลย
200 ปี คลัสเตอร์อิตาลี
นอกเหนือจากการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว สองผู้บริหารของสยามแบรนด์ยังติดตามและสนใจแนวคิดเรื่อง "คลัสเตอร์" ซึ่งเชื่อว่า การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการจะเป็นการเพิ่มพลังในการแข่งขัน ยกตัวอย่างเรื่องเดิมคือ "ส้นรองเท้า" คุณภาพดี เป็นเรื่องยากที่แต่ละโรงงานจะลงทุนเอง แต่หากรวมกลุ่มกัน และมีดีมานด์ที่มากพอ ก็อาจมีซัพพลายเออร์กล้าตัดสินใจเปิดแม่พิมพ์ใหม่ได้ง่ายขึ้น หรือ ในการลงทุนวิจัยพัฒนานั้น หลายๆโรงงานก็สามารถประสานความร่วมมือกันได้
ไม่ใช่เฉพาะด้านการผลิตเท่านั้น ในการทำตลาด ก็สามารถสร้างวัฒนธรรมแห่งการร่วมมือ (co-operation) เพื่อลดต้นทุนลงและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ เพียงแต่ต้องมีการ "เคารพ" และ "ซื่อสัตย์" ต่อกัน ไม่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวเหนือประโยชน์ของกลุ่ม คือ ต้องตระหนักเสมอว่า มิใช่ต่างคนต่างแข่ง แต่ต้องทำเพื่อไปแข่งกับประเทศอื่น
"ผมดูจากอิตาลี คลัสเตอร์เขาเกิดโดยธรรมชาติ เขาผลิตรองเท้ามา 200 ปี สร้างจนเป็นวัฒนธรรมของการรวมพลัง ร่วมมือกัน จนวันนี้ หลายๆประเทศในยุโรปเองก็สู้ไม่ได้ หรือดูอย่าง ฮอลแลนด์ คลัสเตอร์ดอกไม้เขาก็ต้องใช้เวลาในการรวมกลุ่มขึ้นมา ผมก็มีความหวังว่าประเทศไทยจะทำอย่างนั้นได้"
เห็นระยะเวลาการเกิดคลัสเตอร์ที่แข็งแกร่งในต่างประเทศ หลายคนอาจท้อแท้ใจว่ากินระยะเวลาร่วมร้อยปี แต่สถานการณ์ขณะนี้ ดูเหมือนไทยจะรอไม่ได้ สมบวรกลับมองเห็นด้านดีของการที่มีตัวอย่างให้เห็นในโลกว่า ทำให้ไทยมีกรณีศึกษาเป็น "ทางลัด" ที่ใช้เวลาน้อยกว่าในการจัดตั้งคลัสเตอร์
สำคัญคือ ต้องขบโจทย์ให้แตกว่า การผลิตสินค้าแฟชั่นเกี่ยวข้องไปถึงการศึกษา "ศิลป" ของเยาวชนชั้นประถม การส่งเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออกเป็นเรื่องที่ฝ่ายจัดการการศึกษาก็ต้องคิดให้ถึง
หรือการส่งเสริมให้เกิด "แรงบันดาลใจ" ในการออกแบบ และการ "สร้างการยอมรับ" ก็ล้วนเป็นการทำให้คนในชาติรู้จักศิลปะขึ้นมากขึ้น
ใครจะนึกว่าดีไซน์ของ "ตาไก่ และ เชือกร้อย" ที่ปรากฏอยู่ทั้งบนรองเท้าผ้าใบ กระเป๋า หรือ เสื้อผ้าต่างๆ นั้นมาจากการเพ่งพิศรอยตะปูบนผนัง และซี่รั้ว
"ดีไซเนอร์เมืองนอกเขามีเวลาพักผ่อน ไปซัมเมอร์เดินป่า ดูต้นไม้ ถ่ายรูปดอกไม้สวยๆ ถ่ายปีกแมงทับมา ก็เอามาทำเป็นคอลเลคชั่นปีกแมงทับ ทำทั้งลายผ้า ลายหนังเข้าชุดแล้วขายได้ทั่วโลก" จินาวรรณเล่าตามเรื่องที่ได้ยินได้อ่านมา
"สักวันหนึ่ง ถ้าผมมองกระเบื้องที่ทับซ้อนกันอย่างนี้ อาจเกิดเป็นไอเดียเอาหนังมาทับกัน เกิดเป็นดีไซน์ใหม่ขึ้นมาได้" สมบวรเอ่ยขึ้นขณะมองออกนอกหน้าต่างและสายตากระทบเข้ากับหลังคาอาคารอีกหลังที่อยู่ในรั้วเดียวกัน แต่คนไทยต้องเริ่มจากการยอมรับความคิดซึ่งกันและกันเองก่อน ไม่ใช่เอะอะก็ว่าแต่ของฝรั่งสวย พอรู้ว่าเป็นของไทย แล้วไม่สวย"
สองสามีภรรยาได้เริ่มลงมือแล้ว และพบว่า ดีไซน์ของคนไทยไม่ได้อับจนหนทางในตลาดโลก ถ้าผู้ประกอบการไทยมองเห็นปัญหา และสู้อย่างมีความหวัง ก็จะพบกับสีสันแห่งโลกแฟชั่นที่แท้จริง SIAM BRANDS Enterprise Co.,Ltd. 900/168 หมู่ 6 ถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10260
ที่มา manager.co.th