สอนลูกให้รู้จักเก็บเงินตั้งแต่วันนี้เพื่ออนาคตในวันข้างหน้า

สอนลูกให้รู้จักเก็บเงินตั้งแต่วันนี้เพื่ออนาคตในวันข้างหน้า สอนลูกวัยรุ่นเก็บเงินวันนี้ ก่อนเป็นผู้ใหญ่ถังแตกในวันหน้า
การบริหารเงินอาจดูไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในโลกโลกาภิวัฒน์ก็มีตัวอย่างของคนถังแตก เป็นหนี้บัตรเครดิตจนชีวิตล้มละลายจำนวนมาก แถมบางคนยังมีดีกรีด้านการศึกษาสูงลิบลิ่วอีกต่างหาก ดังนั้น การฉีดวัคซีนทางการเงินให้ลูกเสียตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับคนเป็นพ่อแม่ในยุคนี้

แต่จะเริ่มต้นอย่างไร เรามีแนวทางดี ๆ มาฝากกันค่ะ เริ่มจาก

1. ศึกษาพฤติกรรมการใช้เงินของลูก

มีหลายสิ่งที่พ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริหารจัดการเงินของลูกวัยรุ่นเพื่อจะได้นำมาพัฒนาปรับปรุงต่อไปนั้น ยกตัวอย่างเช่น



- เขามีเป้าหมายทางการเงินหรือไม่
- เขามีบัญชีเงินฝากส่วนตัวหรือไม่ ถ้ามี เขานำสมุดบัญชีเงินฝากไปอัปเดตบ่อยเพียงใด
- เขามีความละเอียดรอบคอบในการใช้เงินมากน้อยแค่ไหน เช่น เวลาซื้อของแล้วได้เงินทอน เขาได้ตรวจนับเงินทอนจากพ่อค้าทุกครั้งหรือไม่
- เขาเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับการออมและการลงทุน หรือมีความสนใจบ้างหรือไม่
- พฤติกรรมการใช้เงินของลูกจัดว่าเป็นแบบใด เช่น เป็นคนมีแผนในการใช้จ่ายเงิน หรือถ้าเขามีเงินเมื่อไร เขาจะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า เป็นต้น

เหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทราบก่อนจะคุยกับลูก เพราะจะทำให้การคุยราบรื่นมากยิ่งขึ้น

2. ชวนลูกสร้างเป้าหมายในการออมเงิน

การกระตุ้นให้ลูกมีเป้าหมายทางการเงินตั้งแต่วัยรุ่นเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีในการเริ่มอุปนิสัยรักการออม เขาอาจเก็บออมเงินสำหรับไปซื้อของที่อยากได้ คอร์สที่อยากเรียน ไปเที่ยวในประเทศที่อยากไป หรือเก็บเงินไว้สำหรับเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น การช่วยเหลือที่พ่อแม่ทำได้อาจเริ่มต้นจากการสอนการวางแผนทางการเงิน เช่น ตั้งเป้าของยอดเงินที่ต้องการ (เริ่มต้นอาจเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก เพื่อที่เด็กจะได้มีแรงจูงใจ) จากนั้นก็มาคุยกันว่า เงินที่ลูกจะเก็บสะสมนั้นจะมาจากทางใดได้บ้าง เช่น ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน รับจ้างทำงานพิเศษ เก็บจากเงินค่าขนมที่พ่อแม่ให้ ฯลฯ

จากนั้นพ่อแม่อาจกระตุ้นลูกเพิ่มเติมด้วยการหาภาพที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจของลูก ๆ มาแปะไว้ในจุดที่ลูกสามารถมองเห็นได้ เช่น ถ้าลูกอยากเก็บเงินเพื่อไปเปิดประสบการณ์ต่างประเทศ ก็อาจหาภาพสวย ๆ ของประเทศที่ลูกอยากไปมาติดเอาไว้ เป็นต้น หรือถ้าลูกอยากไปเรียนเทนนิส ก็อาจหาภาพของนักเทนนิสชื่อดังมาติดก็ได้เช่นกัน และจะดียิ่งขึ้นหากพ่อแม่เขียนข้อความดี ๆ ให้กำลังใจลูกไว้บนภาพเหล่านั้นด้วย

3. สอนลูกถึง "ความต้องการกับความจำเป็น"

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมสอนก็คือ ความแตกต่างของคำสองคำนี้ เพราะเด็กมักแยกแยะสองสิ่งนี้ได้ยาก เขาจะมองว่าสิ่งที่เขาต้องการคือสิ่งที่จำเป็นไปเสียทุกครั้ง แต่นั่นก็เพราะเขาเป็นเด็ก ซึ่งพ่อแม่สามารถแก้ไขได้โดยการหาคนต้นแบบในเรื่องของการประหยัด อดออม มาเป็นตัวอย่างในการสอน หรือหากมีคนที่ลูกชื่นชอบ และเป็นคนเก่งในการบริหารเงิน ก็หยิบชีวิตของคนเหล่านั้นมายกตัวอย่างให้ลูกฟัง

4. ให้ลูกมีส่วนร่วมในการบริหารเงินของครอบครัว

แม้ว่าบางครอบครัวอาจมองว่า การให้ลูกเข้ามารับทราบฐานะทางการเงินของครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่ในกรณีที่พ่อแม่อยากสอนให้ลูกรู้จักบริหารจัดการ จะลองทำดูก็ไม่เสียหายอะไร คุณอาจให้ลูกลองบริหารงบสำหรับซื้อของชำเข้าบ้านในแต่ละสัปดาห์ หรือบริหารงบสำหรับทริปพักผ่อนประจำปีของครอบครัว

5. เรียนรู้เทคนิคทางการเงินใหม่ ๆ ร่วมกับลูก

หนังสือ และข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้เป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยที่ดีสำหรับพ่อแม่ลูกในการเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ พ่อแม่อาจใช้เวลาที่อยู่กับลูกศึกษาหนังสือเหล่านี้ เผื่อจะได้เทคนิคดี ๆ นำไปปรับใช้กับครอบครัวในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก parentingteens.about.com
ที่มา manager.co.th






ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์