กองทุนทองคำ กองทอง..มองต่างมุม
ในเดือนก.พ. 2555 ที่ผ่านมา เรื่องราวของ “กองทุนทองคำ” ที่อ้างอิงราคากับกองทุนแม่ใน “ตลาดหุ้นสิงคโปร์” นั้น ถือเป็น Talk of the Town ไปเลย หลังจากที่ “สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยผลวิจัยเรื่อง “ช่องโหว่กองทุนทองเปิดทองคำในไทย” ในวันที่ 13 ก.พ. 2555 ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 30 ธ.ค. 2554 ที่ “ราคาปิด” ของกองทุนทองคำที่สิงคโปร์ในช่วงท้ายตลาดสูงกว่าราคาที่แท้จริงถึง 9.42%
ทำให้ “ผู้ซื้อ” กองทุนทองคำในไทยที่อ้างอิงราคากับกองทุนทองสิงคโปร์ในวันนั้น ต้องซื้อสูงกว่าที่ควรจะเป็น 9.42% ในทางตรงข้ามทำให้ “ผู้ขาย” ขายได้กำไรสูงกว่าที่ควรจะเป็นกว่า 9.42% เช่นเดียวกัน
จนนำสู่ข้อเสนอทางวิชาการแนะนำให้ใช้ “ราคาใหม่” แทน “ราคาปิด” ของกองทุนทองคำที่สิงคโปร์มาเพื่อคำนวณ "มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV)" ของกองทุนทองคำในไทยแทนเพื่อแก้ปัญหานี้
Fundamentals สัปดาห์นี้ มีเรื่องราวของเหตุการณ์ ตลอดจนมุมมองของ “นักวิชาการ” และ “ผู้จัดการกองทุน” ที่อาจจะเห็นต่างแต่ไม่แตกแยกมาฝากกัน
................................
@ เหตุการณ์ 30 ธ.ค. 2554
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ” นักวิจัยและอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ บอกว่า ปัจจุบันมีกองทุนทองคำ 16 กองทุน ที่ไปลงทุนในกองทุนหลัก คือ “กองทุน SPDR Gold Trust (SPDR GLD 10 US$)” ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ โดยจะใช้ “ราคาปิด” ของกองทุนแม่ดังกล่าวในการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนในไทย โดยเหตุการณ์ในวันที่ 30 ธ.ค. 2554 นั้น ราคาของกองทุนหลักมีการซื้อขายกันอยู่ในช่วง 151 - 152 ดอลลาร์สหรัฐ ตลอดทั้งวันจนถึงช่วงนาทีสุดท้ายก่อนปิดตลาดมีนักลงทุนไปเคาะซื้อที่ราคา 165.99 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 280 หุ้น ในช่วงท้ายตลาด จนทำให้ราคาปิดในวันนั้นกลับปิดสูงกระโดดขึ้นไปอยู่ที่ 165.99 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงผิดปกติไปถึง 9 - 10% ทั้งที่ก่อนหน้านั้นก็ยังซื้อขายในช่วง 151 - 152 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนประมาณกว่า 1 ล้านบาท เท่านั้น ก็ทำให้ราคาทองกระโดดขึ้นไปประมาณ 9 - 10% ดังกล่าว ทั้งที่ราคาทองคำในตลาดโลกในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่พบว่ามีราคาที่กระโดดขึ้นไปแต่ประการใด
ในวันเดียวกันนั้นกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนหลักในสิงคโปร์ก็ประกาศ “ราคาชี้แนะของกองทุน (iNAV)” ที่ 151.694 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจากปริมาณทองคำที่กองทุนถืออยู่และราคาทองคำที่ซื้อขายกันในขณะนั้นของในตลาดทองคำโลกเพื่อจะสะท้อนถึงมูลค่าของกองทุนที่ควรจะเป็นในขณะนั้น ในขณะที่ราคาปิดในวันนั้นสูงกว่ามูลค่ากองทุนที่ควรจะเป็นไปถึง 9.42%
“เมื่อลองดูการเคลื่อนไหวของราคากองทุนหลัก SPDR Gold Trust ที่สิงคโปร์ย้อนหลังก็พบว่ามีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของราคามาแล้วในอดีตหลายครั้ง เช่น 2% หรือ 4% หรือในวันที่ 18 มี.ค. 2554 ราคาปิดสูงกว่า iNAV ประมาณ 5.17% และในวันที่ 30 ธ.ค. 2554 ปิดสูงไป 9.42% นั้น จากสภาพคล่องของกองทุนหลักที่มีไม่มากเพียงพอ ทำให้นักลงทุนใช้เงินลงทุนเพียงประมาณ 1 ล้านบาท สร้างราคาปิดที่สูงเกินจริงในวันที่ 30 ธ.ค. 2554 ได้ ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นความเสี่ยงหนึ่งของกองทุนทองคำที่อ้างอิงราคากับกองทุนหลักในสิงคโปร์ และถือเป็นช่องโหว่ในการทำรายการได้เช่นกันเพราะอาจมีคนบางกลุ่มสร้างราคาเพื่อประโยชน์ของตัวเองได้เช่นกัน”
@ เชื่อเป็นช่องโหว่สร้างราคา
โดย ดร.ชนวีร์ มองว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นช่องโหว่ในการสร้างราคาปิดที่สิงคโปร์เพื่อประโยชน์ของนักลงทุนบางกลุ่มได้จริงด้วยสภาพคล่องของกองทุนทองคำที่สิงคโปร์เองที่มีสภาพคล่องไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดอื่น เช่น ฮ่องกง หรือ สหรัฐ
ตัวอย่าง หากนักลงทุนคนหนึ่งมีเงินทุนเพียงพอก็ “สั่งขาย” กองทุนทองคำในไทยก่อน แล้วก็ “ไปซื้อ” กองทุนทองคำที่สิงคโปร์ในช่วงใกล้ปิดตลาดเพื่อทำให้ “ราคาปิดสูงขึ้น” ผิดปกติ ก็จะทำให้ตัวเองสามารถขายกองทุนทองคำในไทยได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น หรือในทางตรงข้าม ถ้าจะซื้อกองทุนทองคำในไทยก็อาจจะ “สั่งซื้อ” กองทุนทองคำในไทยก่อน แล้วค่อย “ไปขาย” กองทุนทองคำที่สิงคโปร์ในช่วงท้ายตลาดเพื่อทำให้ “ราคาปิดต่ำกว่าปกติ” ซึ่งจะทำให้สามารถซื้อกองทุนในไทยในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้เช่นกัน ซึ่งการ “สร้างราคา” นี้ สามารถทำได้จริง ถ้ามีเงินทุนเพียงพอ
ถ้านักลงทุนคนหนึ่งอยากจะได้ราคาปิดที่ 96 ดอลลาร์สหรัฐ ก็ทำได้ โดยส่งคำสั่งซื้อที่ราคา 96 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นจำนวน 25,100 หุ้น คำสั่งขายที่ 91 - 95 ก็จะถูกจับแมทช์หมด แล้วมาปิดที่ 96 ดอลลาร์สหรัฐ หรือในทางตรงข้ามถ้าอยากได้ราคาปิดที่ 87 ดอลลาร์สหรัฐ ก็ทำได้เช่นเดียวกัน โดยการส่งคำสั่งขายที่ราคา 87 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นจำนวน 9,100 หุ้น คำสั่งซื้อที่ 90 - 88 ดอลลาร์สหรัฐก็จะถูกจับแมทช์หมดแล้ว มาปิดที่ราคา 87 ดอลลาร์สหรัฐ
“ดังนั้นจะเห็นว่าการที่ราคาปิดของกองทุนทองคำที่สิงคโปร์สามารถถูกบิดเบือนได้โดยง่ายนั้น ราคาปิดดังกล่าวจึงไม่ใช้ราคาตลาดที่เหมาะสมที่จะนำมาคำนวณ NAV ของกองทุนทองคำในไทยที่อ้างอิงกับกองทุนทองคำในสิงคโปร์แต่ประการใด เพราะว่าราคาปิดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความสมดุลของความต้องการซื้อและความต้องการขายอย่างแท้จริง แต่ผลจากการสร้างราคาที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงไม่ใช่เป็นผลมาจากกลไกตลาด”
@ แนะใช้ราคาอื่นแทนราคาปิด
ดร.ชนวีร์ ยังบอกอีกว่า จากการรวบรวมข้อมูลเม็ดเงินลงทุนสุทธิที่เข้ามาลงทุนในกองทุนทองคำที่อ้างอิงราคากับกองทุนทองคำในสิงคโปร์ในวันที่ 30 ธ.ค. 2555 นั้น มีประมาณ 858 ล้านบาท โดยผู้ที่ซื้อกองทุนทองคำในวันนั้นต้องจ่ายซื้อในราคาที่สูงเกินจริงไปประมาณ 9.42% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “เงินที่ไม่ยุติธรรม (unfair amount)” ที่ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องเสียและเงินจำนวนนี้ต้องตกเป็นภาระของผู้ซื้อกองทุนทองคำในไทยไป ซึ่งเป็นผลจากการใช้เงินเพียงประมาณกว่า 1 ล้านบาท ในการทำราคาปิดดังกล่าวในวันนั้น นอกจากนี้ นักลงทุนเดิมก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อมีนักลงทุนขายกองทุนในราคาที่ปิดสูงผิดปกติแสดงว่าจะต้องนำเงินกองทุนไปให้กับนักลงทุนที่ขายหน่วยมากเกินความเป็นจริง ซึ่งในระยะยาวอาจจะส่งผลให้กองทุนมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าดัชนีเทียบวัด (benchmark) ได้เช่นกัน
“ดังนั้น หากยังไม่มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ใดๆ ก็แนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในกองทุนทองคำกองอื่นแทน หรือลงทุนในกองทุนอีทีเอฟทองคำ 4 กองในตลาดหุ้นไทยแทนไปก่อน เพราะสามารถเห็นราคาซื้อขายในขณะนั้นเลย (Real Time) โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เสนอแนะไป คือ การเปลี่ยนมาใช้ตัวเลขอื่นที่ไม่สามารถถูกบิดเบือนราคาได้ง่าย มากำหนดการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดทองคำที่อ้างอิงกับกองทุนหลักในสิงคโปร์แทน เช่น ใช้ราคาเฉลี่ยในช่วง 15 - 30 นาที สุดท้าย หรือ ราคา iNAV ของกองทุนทองคำสิงคโปร์ ณ ราคาปิดแทน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุด เพราะสาเหตุของปัญหา คือ การใช้ตัวเลขที่สามารถถูกบิดเบือนได้ง่ายมาเป็นตัวกำหนดราคาซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนทองคำในไทยนั่นเอง”
อย่างกรณีการใช้ราคาเฉลี่ย 15 - 30 นาทีสุดท้าย พบว่า สามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก โดยใช้ข้อมูลของ Bloomberg แล้วใส่สูตร Bloomberg VWAP Function เข้าไปก็จะทำให้ได้ราคาเฉลี่ยในช่วง 15 - 30 นาทีสุดท้ายออกมาไม่ยุ่งยากแต่ประการใด ซึ่งจากการลองใช้ข้อมูลดังกล่าวในวันที่ 30 ธ.ค. 2554 ดู โดยใช้ราคาเฉลี่ย 15 - 30 นาที จะได้ราคาเฉลี่ยที่ 151.8701 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับราคา iNAV ของกองทุนที่ 151.694 ดอลลาร์สหรัฐ (ในขณะที่ราคาปิดในวันนั้นอยู่ที่ 165.99 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่ปัญหาเท่าที่พบ คือ บลจ.บางแห่งอาจจะไม่มีข้อมูล Bloomberg เป็นต้น
“นอกจากนี้ยังอาจจะใช้มาตรการอื่นๆ มาช่วยในการแก้ไขปัญหาได้แม้ว่าจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาโดยตรงก็ตาม เช่น การหักค่าถือครองระยะสั้น หากลงทุนในกองทุนน้อยกว่าช่วงเวลาที่กำหนด เช่น กองทุนทิสโก้ออยล์ฟันด์ ของ บลจ.ทิสโก้ จะหัก 0.5% หากนักลงทุนได้ลงทุนในกองทุนน้อยกว่า 90 วัน โดยจะเก็บเข้ากองทุนไป หรือ การหัก Exit Load ที่ขึ้นกับระยะเวลาการถือครอง เช่น กองทุนเปิดทองคำในอินเดียจะหัก 1.5 - 2.0% ถ้านักลงทุนมีการขายกองทุนก่อน 6 เดือน - 1 ปี ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการที่นักลงทุนจะเข้าไปลงทุนเพื่อทำราคาในตลาดสิงคโปร์ลงได้แม้จะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาโดยตรง ในกรณีของกองทุนทองคำในไทย ถ้าจะยังคงใช้ราคาปิดอ้างอิง คิดว่าการหักค่าถือครองระยะสั้น 0.5% ไม่น่าจะเพียงพอ อาจจะต้องเก็บที่ประมาณ 2.0% เป็นต้น”
@ ความเสี่ยงใหม่ของกองทองสิงคโปร์
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล” นักวิเคราะห์กองทุนรวม บมจ.หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) ยอมรับว่า เหตุการณ์ที่ราคาปิดของกองทุนทองคำหลักในสิงคโปร์มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกตินั้นถือเป็น “ความเสี่ยงใหม่” ที่เพิ่มเข้ามาของกองทุนทองคำในไทยที่อ้างอิงราคากับกองทุนหลักในตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพราะไม่มีใครรู้ว่าราคาจะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเมื่อไร หากในวันที่เราจะไปซื้อหน่วยแล้วเกิดราคาปิดกระโดดสูงขึ้นมาพอดีก็ต้องซื้อแพงไป หรือในวันที่จะขายเกิดราคาปิดปรับตัวต่ำกว่าปกติก็ต้องขายถูกไป แต่ในมุมกลับก็จะมีทั้งผู้ที่ “ได้ประโยชน์” และ “เสียประโยชน์” จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ดังนั้น นักลงทุนก็ต้องทำความเข้าใจไว้ด้วยว่ากองทุนทองคำที่อ้างอิงราคาจากกองทุนหลักในสิงคโปร์มีความเสี่ยงในเรื่องนี้เพิ่มเข้ามา โดยภาพรวมผู้ลงทุนที่ลงทุนอยู่เดิมก็ยังสามารถลงทุนต่อไปได้ และหากจะลงทุนเพิ่มก็ควรทำความเข้าใจประเด็นความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวที่มีอยู่เพิ่มเข้ามาด้วยเช่นกัน ถ้าไม่แน่ใจในส่วนของเม็ดเงินลงทุนใหม่อาจจะพิจารณาไปลงทุนในกองทุนทองคำกองอื่นซึ่งปัจจุบันก็มีให้เลือกอยู่มากมายเช่นกัน
“ปกติการคำนวณมูลค่า NAV ของกองทุน สามารถใช้ราคาได้ 2 ลักษณะ คือ 1) ราคาปิด และ 2) ราคาอื่นที่เหมาะสม ซึ่งกองทุนส่วนใหญ่รวมทั้งกองทุนทองคำเองก็จะใช้ราคาปิดในการคำนวณ NAV ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ราคาปิดในตลาดสิงคโปร์มีความผิดปกติเกิดขึ้น ทาง บลจ.ก็ต้องบันทึกไปตามราคาปิดนั้นด้วยซึ่งมองในแง่นี้ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ถามว่าทำไมเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในตลาดหุ้นสิงคโปร์อาจเพราะกองทุนทองคำที่ตลาดสิงคโปร์มีขนาดเล็กกว่าตลาดฮ่องกงหรือสหรัฐก็เป็นเหตุผลหนึ่ง และสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิด เพราะว่าบลจ.เป็นคนทำให้เกิด แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่จะทำให้กองทุนทองคำที่ไปอ้างอิงกับราคาทองคำในตลาดสิงคโปร์มีความเสี่ยงในเรื่องราคาปิดที่ผันผวนเพิ่มเข้ามาอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งด้วยเช่นกัน”
@ กองทุนคำนวณ NAV ตามมาตรฐาน
โดย “วรวรรณ ธาราภูมิ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ยืนยันว่า เกณฑ์การคำนวณ NAV ของกองทุนรวมที่อุตสาหกรรมใช้อยู่นั้นมีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรมและเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีที่ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” ประกาศกำหนดให้ทั้งอุตสาหกรรมกองทุนยึดถือปฏิบัติตามอยู่แล้ว นอกจากนี้สำนักงาน ก.ล.ต. กับสมาคม บลจ.ก็ได้มีการดำเนินการร่วมกัน 2 ฝ่ายในการพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้นนี้มาก่อนแล้ว และ บลจ.ที่เกี่ยวข้องได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการคุ้มครองผู้ลงทุนโดยไม่ได้บกพร่อง โดยตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2555 บลจ.ได้ติดต่อไปยังตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ซึ่งหน่วยลงทุน ETF GLD 10US$ (SPDR Gold Trust) จดทะเบียนอยู่และทางตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ได้ตอบกลับมาว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ส่วนเรื่องการคำนวณ NAV ของกองทุนนั้น มีกฎกติกาที่เราจะต้องทำตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด คือ จะต้องใช้ราคาปิดตามมาตรฐานบัญชีทุกประการและเมื่อมาตรฐานบัญชีกำหนดให้กองทุนต้องใช้ “ราคาปิด” ของตลาดที่มีสภาพคล่องก็จำเป็นต้องใช้ราคานั้น ซึ่งตลาดสิงคโปร์ที่กองทุนทองคำจดทะเบียนซื้อขายนั้นก็เป็นตลาดที่มีสภาพคล่องก็ต้องใช้ราคาปิดของตลาดนั้นตามกฎจะทำเป็นอื่นไปได้อย่างไร
“นอกจากนี้ เรื่องที่มีข้อสงสัยว่าอาจมีผู้ใดผู้หนึ่งที่ได้ประโยชน์จากเรื่องราคานั้น สมาคมบลจ.เชื่อโดยสุจริตใจว่าไม่มีบลจ.ใดไปแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองหรือใครๆ ด้วยการกระทำเช่นนั้น และเรื่องนี้หากมีข้อสงสัยก็เชื่อมั่นว่าทางสำนักงาน ก.ล.ต. ก็พร้อมจะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการตรวจสอบอยู่แล้ว ทั้งนี้ทางสมาคม บลจ. กับ สำนักงาน ก.ล.ต. จะหารือร่วมกันต่อเนื่องถึงข้อดี ข้อเสีย เพื่อประเมินหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดต่อไป”
@ กองทุนทั่วโลกใช้ราคาปิด คำนวณ NAV
โดย “ดารบุษป์ ปภาพจน์” รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด 2 บลจ.กรุงไทย บอกว่า กองทุนทั่วโลกในปัจจุบันก็ใช้ราคาปิดในการคำนวณมูลค่า NAV และหากจะเปลี่ยนไปใช้ตัวเลขอื่นในการอ้างอิงก็คงแตกต่างจากกองทุนอื่นทั่วโลก ในส่วนของการเคลื่อนไหวของราคาที่ผิดปกติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องยอมรับว่าราคาผิดปกตินี้เกิดขึ้นที่ตลาดหุ้นสิงคโปร์ และกองทุนทองคำที่อ้างอิงกองทุนทองคำที่สิงคโปร์เมื่อราคากองทุนหลักเคลื่อนไหวผิดปกติย่อมส่งให้ราคากองทุนทองคำในไทยเคลื่อนไหวผิดปกติด้วยแน่นอน เพราะเกือบ 100% ลงทุนในกองทุนทองคำเพียงกองเดียว แต่ไม่ใช่ว่ากองทุนอื่นในโลกจะไม่เจอการเคลื่อนไหวของราคาที่ผิดปกติ เพียงแต่กองทุนหลักเหล่านั้นอาจจะลงทุนในหลายกองทุนหรือหลายสินทรัพย์เท่านั้นเองแต่ไม่ใช่ว่ากองทุนอื่นในโลกไม่เจอปัญหาในลักษณะเช่นเดียวกันนี้
“ในส่วนของแนวทางในการหักค่าถือครองระยะสั้น 2% จากผู้ถือหน่วยลงทุน คิดว่าไม่ได้ตอบโจทย์อะไร เพราะหากมีใครสามารถสร้างราคาปิดได้เช่นนั้นจริง แค่สร้างราคาขึ้นไปได้ในระดับ 10% เขาจ่ายค่าถือครองระยะสั้นไป 2% ก็ยังได้กำไรอีก 8% ไม่ใช่เรื่องที่ลำบากแต่ประการใด”
เช่นเดียวกับ “ธีรพันธ์ จิตตาลาน” กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ฟินันซ่า ที่มองว่า โดยปกติการใช้ “ราคาปิด” ในการคำนวณ NAV ก็ถือว่าถูกต้องแล้ว เพียงแต่กองทุนทองคำในสิงคโปร์อาจจะมีสภาพคล่องน้อยกว่าที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอื่นเท่านั้นเอง ในส่วนของราคาปิดอาจจะขอให้ทางตลาดหุ้นสิงคโปร์มีการคำนวณราคาใหม่ขึ้นมาให้ใช้ซึ่งประเทศเขามีการพัฒนาด้านการเงินมากและคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรที่จะทำในเรื่องนี้ แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนไปใช้ราคาอ้างอิงจากตลาดหุ้นอื่นแทน เป็นต้น เพราะปัญหาในการสร้างราคานี้ไม่ได้เกิดที่ไทยแต่เกิดขึ้นที่ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ทาง บลจ.ไทย คงไปทำอะไรในส่วนนั้นไม่ได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้ เป็นบางส่วนของมุมมองที่แตกต่างต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับ “กองทุนทองคำ” ที่อ้างอิงราคาจากตลาดหุ้นสิงคโปร์ ซึ่งน่าจะช่วยให้นักลงทุนที่ลงทุนอยู่เดิมและกลุ่มนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนใหม่ในกองทุนทองคำดังกล่าว มีความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากขึ้น ไม่มากก็น้อย เพื่อใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนของตัวเองต่อไป
ที่มา http://money.impaqmsn.com/