ตำนาน (2) เฉลียว อยู่วิทยา เรดบูล-กระทิงแดงDNAเดียวกันต่างที่กลยุทธ์

ตำนาน (2) เฉลียว อยู่วิทยา เรดบูล-กระทิงแดงDNAเดียวกันต่างที่กลยุทธ์
อาณาจักรกระทิงแดงวันนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท มูลค่าธุรกิจที่มากมายนี้ยังไม่มากเท่ากับการปั้นแบรนด์เรดบูลก้าวสู่ระดับโลก


ที่นับวันมีแต่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม และยังนำมาต่อยอดธุรกิจไปสู่แนวทางการพัฒนาตลาดใหม่ๆ อีกมากมาย ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับ เรดบูล ทั่วโลก ที่มีชื่อ ดีทริช เป็นผู้ปั้น

แม้เรดบูลและกระทิงแดง จะเป็นเครื่องดื่มที่มาจาก ดีเอ็นเอเดียวกัน จะต่างกันก็ตรงที่รสชาติและวาไรตี้ เช่น เรดบูลที่มีความซ่าเป็นคาร์บอเนตดริ๊งค์ เพื่อให้เหมาะกับตลาดผู้บริโภคของแต่ละท้องถิ่น

เรดบูล กลายเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เพราะการวางกลยุทธ์และการสร้างแบรนด์ที่โดดเด่นและแตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกิจกรรมของเรดบูลที่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์แนวสปอร์ต ชอบกีฬาความเร็ว กีฬาเอ็กซ์ตรีม และ มอเตอร์สปอร์ต ดีทริช วาง เรดบูล สู่เส้นทางนั้น

ความสำเร็จของเรดบูลนั้น มาจาก การที่ ดีทริช เป็นผู้วางทิศทางสินค้าโดยสร้างภาพให้เรดบูล เป็นเครื่องดื่มของคนรุ่นใหม่ที่ชอบความ “แรง” โดยมุ่งเป้าไปสู่กลุ่มนักเรียนมหาวิทยาลัย หนุ่มๆ วัยทำงาน ใช้การเป็นสปอนเซอร์ กีฬาโลดโผน และกีฬาที่อาศัยความเร็ว


ความยิ่งใหญ่ของเรดบูล ยังได้ถูกถ่ายทอดผ่านทางสื่อมวลชนทั่วโลก เมื่อปี ค.ศ. 2003 หรือในปี พ.ศ. 2546 เรดบูล ได้เปิดตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ที่ออสเตรีย ในงานเปิดตัวโรงเก็บเครื่องบินในงาน The Hangar-7

เรื่องราวของ เรดบูล ได้รับการตีพิมพ์ทั่วโลกรวมถึงสื่อจากประเทศไทยที่ได้ร่วมงานยิ่งใหญ่นี้ ยังได้ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวของเรดบูลไว้อย่างน่าสนใจหลายด้านหลายมุม

ในมุมธุรกิจ "ดีทริช มาเตสชิทซ์" คือ นักสร้างตลาด สร้าง "เรดบูล" จนไต่ขึ้นชั้น โกลบอล แบรนด์ และเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy Drink) เกือบ 100 ประเทศทั่วโลกแล้ว ภาพความยิ่งใหญ่ของ "นักสร้าง" เริ่มฉายความโดดเด่นในสมรภูมิการค้าโลก โดยมุ่งสร้างนวัตกรรมเครื่องดื่มให้พลังงานที่มีรากเหง้า จาก เครื่องดื่ม "กระทิงแดง" ของบ้านเรา

ดีทริช ติดปีกบินให้ เรดบูล อยู่เหนือคู่แข่ง และวันนี้ก็กำลังรุกคืบด้วยแรงพลังแห่งการเป็นผู้นำตลาดต่อไปด้วยแผนเชิงกลยุทธ์เชิงลึก แผนธุรกิจเชิงรุกนี้ทำให้หุ้นส่วนของดีทริช คือ เฉลียว อยู่วิทยา ซึ่งได้ร่วมกันลงขันในสัดส่วนการร่วมทุน ไทย 51%และฝ่าย ดีทริช 49% ยิ่งเชื่อมั่นว่า เรดบูล จะยิ่งใหญ่ต่อไป และทำส่งผลให้ บริษัท Red Bull GmbH. ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกันขยายการเติบโตในระดับโลกได้อย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อมองเห็นโอกาสของเรดบูลจากกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งสู่สปอร์ตมาร์เก็ตติ้งและไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้ง


ดีทริช ซึ่งสื่อมวลชนในออสเตรีย ตั้งฉายา " มิสเตอร์ เรดบูล" พูดในงานเปิดตัวโรงเก็บเครื่องบินว่า การสร้าง อินโนเวทีฟ โปรดักท์ เป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้นๆ โดยเครื่องดื่มให้พลังงาน เรดบูล ที่เขาได้ชื่อแบรนด์จากเมืองไทย เป็นชื่อที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องสร้าง อินโนเวทีฟ ให้ผู้บริโภคพึงพอใจ จนกลายเป็น ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยการเปิดตลาดใหม่ชนิดที่ไม่มีใครทำมาก่อน คือไม่เป็นเพียงแค่ เครื่องดื่มดับความกระหาย แต่เป็นเครื่องดื่มที่มอบพลังงานให้ร่างกาย และจิตใจ และวางตำแหน่งสินค้าในระดับพรีเมียม คือ จำหน่ายในราคาสูงกว่าเครื่องดื่มอื่นๆ โดยเจาะตลาดคนชั้นกลางเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากตลาดเมืองไทยที่จับตลาดแมส และตลาดผู้ใช้แรงงาน

" เรดบูล เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตัวของมันเอง ทั้งความเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่ มีรสชาติที่แตกต่างจากเครื่องดื่มดับกระหาย เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ และยังให้พลังงานแก่ร่างกายด้วย ซึ่งในตลาดยังไม่มีคู่แข่งขันรายใดทำได้เช่นเรดบูล" ดีทริช กล่าว และว่า การเปิดตลาดในออสเตรียถือเป็นการเปิดประเภทสินค้าใหม่ในตลาด
เรดบูล พุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มคนชั้นกลาง คนทำงานออฟฟิศ และคนที่มีการศึกษา

การสร้างการรับรู้ในตัวสินค้าให้กับกลุ่มเป้าหมาย เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างยิ่ง เช่น ชาวนา ออสเตรีย ไม่เชื่อว่ากินแล้วจะได้พลังงาน แต่เราต้องใส่ คอมมิวนิเคชั่น หรือการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายเข้าไปช่วย หรือการที่ภาพของเรดบูล ในช่วงแรกๆ ถูกมองว่าเป็นสินค้าสำหรับผู้ชาย เขาก็แก้โดยการออกแบบการ์ตูนล้อเลียนตนเอง เพื่อให้ชนะใจผู้บริโภคผู้หญิง

" โฆษณาทำให้ขบขันได้ แต่ตัวสินค้าต้อง ซีเรียส ต้องได้คุณภาพตามที่โฆษณาไว้ :Advertising can be funny but product must be serious " ดีทริช กล่าวและว่า แต่ต้องพยายามทำไม่ให้สินค้าเป็นสินค้าแฟชั่น เพราะวงจรชีวิตมักสั้น ตรงกันข้ามจะต้องจับผู้บริโภคเดิมให้ดื่มต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับการขยายฐานตลาดต่อไปไม่หยุดยั้ง

สูตรใหม่เส้นทางสู่ โกลบอล แบรนด์ นอกจากนี้ในการเปิดตลาดครั้งแรกสู่ประเทศต่างๆ " ดีทริช" จะใช้ทีมขายของเขาเอง ในการทำตลาด เนื่องจากเขาเชื่อว่าการปล่อยให้สินค้าเกิดใหม่ถูกจัดจำหน่ายโดยเอเย่นต์ โอกาสที่สินค้าจะแจ้งเกิดในตลาดเป็นไปได้ยากกว่า เพราะว่าเอเย่นต์เหล่านี้ไม่มีความเป็นเจ้าของสินค้า ก็จะทำตลาดไปตามกฎเกณฑ์เดิมๆ ไม่มีอะไรพิเศษ ในที่สุดสินค้านั้นๆ อาจถึงจุดล้มเหลวได้เช่นกัน สำหรับการทำตลาด เครื่องดื่ม เรดบูล และกระทิงแดง นั้น แม้ว่า เรดบูล จะมาจากรากเหง้าของแบรนด์ กระทิงแดง ในเมืองไทย แต่ขณะนี้ แน่ชัดว่าเรดบูล กับกระทิงแดง มีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน จะต้องทำขนานกันไป กระทิงแดง จะเน้นตลาดเอเชีย ส่วนเรดบูลเน้นตลาดยุโรป และอเมริกา โดยมีฐานการผลิต ที่ประเทศออสเตรีย ใช้ฐานออสเตรีย ความแยบยลของกลยุทธ์ส่งออก

เรดบูล ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คิด เมื่อก้าวสู่มอเตอร์สปอร์ต กีฬาผาดโผน และก้าวไปสู่โลกแห่งความเร็ว นี่ยังเป็นอีกหนึ่งฝันของการปั้นเรดบูล ให้ก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ ผู้ที่กุมบังเหียนในเรื่องมอเตอร์สปอร์ต คือ ลูกชายคนโต ของ "เฉลียว อยู่วิทยา" คือ ผู้จุดประกายและผู้อยู่เบื้องหลังทีมมอเตอร์สปอร์ต และนี่คืออีกหนึ่งความยิ่งใหญ่ของการสร้างอาณาจักรกระทิงแดง และ เรดบูล ในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งจะสะท้อนถึงแนวคิดผ่านคำบอกเล่าของ เฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งดูตลาดต่างประเทศ กับฝันของเรดบูล กับการก้าวสู่มอเตอร์สปอร์ต ติดธงไทย สร้างแบรนด์ระดับโลกผ่านมอเตอร์สปอร์ต ติดตามตอนต่อไป
ที่มา โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์





ไม่มีความคิดเห็น:

คลังบทความของบล็อก

ฟรีบริการเก็บสถิติเว็บไซด์ FlashSanook แฟลชเกมสนุกของคนออนไลน์